

ฃวันที่ 22 สิงหาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการนำเข้ายา หรือวัคซีนจากต่างประเทศว่า รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 สำหรับกรณีเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เช่น โรงพยาบาลเอกชน ต้องมายื่นเป็นผู้รับอนุญาตนำ หรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรก่อน จากนั้นจึงยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เนื่องจากผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับเอกชนรายใดประสงค์จะนำเข้าวัคซีนโควิด สามารถดำเนินการได้ยื่นขอเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนมาขึ้นทะเบียนได้ที่ อย. เพื่ออำนวยความสะดวก ทาง อย.ได้ระดมสรรพกำลังและเร่งดำเนินการพิจารณาประเมิน ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล และการบริหารจัดการความเสี่ยงของวัคซีน หากส่งเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 30 วัน
“ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 6 รายการ ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ไซเอ็นซ์ จำกัด นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด, วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด วัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนโคเมอร์เนตีของไฟเซอร์ นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564)” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า ผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือวัคซีนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด -19 สามารถรับบริการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน OSSC หมายเลข 0-2590-7606 และ 0-2114-8181 แอพพลิเคชั่นไลน์ : @OSSC_FDA อีเมล์ [email protected] หรือลงทะเบียนใช้บริการคำปรึกษาออนไลน์ผ่านระบบ E-consult ได้ที่ลิงค์ http://privus.fda.moph.go.th