ปลัดเกษตรฯ ชี้ยังไม่มีพื้นที่เกษตรเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ

  • ย้ำทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด
  • เตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรทุกจังหวัดพื้นที่เสี่ยง

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานความเสียหายจากภัยแล้งในพื้นที่เกษตร แต่สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ตลอดฤดูแล้งอย่างใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชน กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการช่วยเหลือรายได้เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้เนื่องจากน้ำน้อย โดยมีทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่ต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรสามารถกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) ซื้อโคเนื้อมาเลี้ยง โดยใช้ระยะเวลาขุน 4 เดือน กระทรวงเกษตรฯ จัดหาตลาดรับซื้อให้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ แพะ แกะ และไก่พื้นเมือง ควบคู่กับการปลูกพืชอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้แก่ หญ้าแพงโกล่า ข้าวโพด เป็นต้น 

อนันต์ สุวรรณรัตน์

ส่วนกรมประมงส่งเสริมการเลี้ยงปลานิล ปลาสลิด และกุ้ง รวมทั้งจะนำกุ้งก้ามกรามไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้เกษตรกรจับมาบริโภคและจำหน่ายได้ เป็นการสร้างทางเลือกอาชีพแทนการทำนาปรัง ซึ่งใช้น้ำมาก ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอปลูกพืชใช้น้ำน้อยจะส่งเสริมการปลูกพืชผักต่าง  ซึ่งสามารถสร้างรายได้ระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างแรงงานของกรมชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรมารับจ้างทำงานในโครงการชลประทาน เพื่อให้มีรายได้เสริมจากการที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สรุปความเสียหายจากภัยพิบัติปี 2562 ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-27 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องด้วยอุทกภัย ซึ่งมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 13 จังหวัด 68 อำเภอ 423 ตำบล 3,769 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ได้แก่ เชียงราย 14 อำเภอ น่าน 2 อำเภอ เพชรบูรณ์ 6 อำเภอ อุทัยธานี 8 อำเภอ นครพนม 1 อำเภอ มหาสารคาม 6 อำเภอ บึงกาฬ 4 อำเภอ หนองคาย 8 อำเภอ บุรีรัมย์ 6 อำเภอ กาฬสินธ์ 1 อำเภอ นครราชสีมา 5 อำเภอ กาญจนบุรี 6 อำเภอ และฉะเชิงเทรา 2 อำเภอ และอยู่ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามในประกาศเขตภัยพิบัติ 3 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย 4 อำเภอ ชัยนาท 4 อำเภอ และสุพรรณบุรี 5 อำเภอ จากการสำรวจเบื้องต้นปรากฎว่ามีผลกระทบต่อการเกษตรด้านพืช15 จังหวัด เกษตรกร 164,391 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 1,635,676 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว 15 จังหวัดเกษตรกร 76,923 ราย พื้นที่เสียหาย 736,182 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 650,266 ไร่ พืชไร่ 85,446 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 448 ไร่คิดเป็นวงเงิน 822.62 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 339 ราย พื้นที่ 3,150 ไร่ เป็นเงิน 3.51 ล้านบาทส่วนด้านปศุสัตว์ด้านประมงยังไม่มีรายงานผลกระทบ

ขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติในปีที่ผ่านมาให้ครบถ้วน รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เสริมฤดูแล้งนี้ แต่ยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีรายงานผลกระทบภาคการเกษตรเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ”