“ปลัดดีอีเอส” ร่อนหนังสือทวงเงินค่าใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐ 569 ล้านบาท ให้ “เอ็นที”​จ่ายภายใน 30 วัน​

  • ดำเนินการตามผลจากตรวจสอบของสตง.
  • นำโครงข่ายเน็ตประชารัฐ และอุปกรณ์ไปใช้ 246,615 พอร์ต
  • โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.อัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ ได้ทำหนังสือด่วนมากเลขที่ดศ.0208/8548 ลงวันที่  2 ส.ค.2564 เรื่องขอแจ้งค่าเสียหาย สิทธิหรือผลประโยชน์ที่รัฐควรได้รับจากการใช้ทรัพย์สินของโครงการเน็ตประชารัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)  หรือเอ็นที  

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ได้ดำเนินการตรวจสอบตามข้อตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)​ในประเด็นการตรวจสอบ และติดตามกรใช้ทรัพย์สินของโครงการเน็ตประชารัฐ  ยังไม่รัดกุม เพียงพอ โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการตรวจสอบ ติดตามการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดทั้งหมด หากพบว่ามีการดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง จากผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม แล้วทำให้รัฐไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรได้รับ ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณี 

ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะทำงานพิจารณาค่าเสียหาย เพื่อตรวจสอบในกรณีดังกล่าว และได้เชิญบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)​ มาให้ข้อมูลและรับทราบหลักการ และคำนวณจำนวนค่าเสียหาย โดยการตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 26 พ.ค. 2560 – 18 พ.ค.2563 บริษัท โทรคมนาคม จำกัด ได้นำโครงข่ายอินเตอร์เน็ตประชารัฐ และอุปกรณ์ไปใช้จำนวน 246,615 พอร์ต โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานปลัดกระทรวงฯ​ในฐานะเจ้าของโครงข่าย ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางราชการ และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดไว้ ส่งผลให้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้รับความเสียหาย และไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่รัฐควรได้รับ รวมเป็นเงินราว  569 ล้านบาท โดยขอให้นำเงินจำนวนดังกล่าว มาชำระให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงฯภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ 

สำหรับรายละเอียดการคิดค่าเสียหาย ดังนี้
1.ค่าตอบแทนการใช้โครงการเน็ตประชารัฐ อัตรา 70 บาท ต่อsubcriberต่อเดือน จำนวน 3,759,881.47 เดือน รวมเป็นเงิน 263 ล้านบาท
2.ค่าเสียหาย โดยเทียบเคียงค่าปรับตามสัญญา อัตรา 2.30 บาท ต่อ port จำนวน 112,798,185 วัน คิดเป็นเงิน 259 ล้านบาท
3.ต้นทุนโครงการเน็ตประชารัฐ อัตรา 150.44 บาทต่อเดือนต่อผู้ใช้บริการ จำนวน 310,123.10 เดือน รวมเป็นเงิน 46,654,919.16 บาท

ที่มาของเน็ตประชารัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ เป็นโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม  ตามนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)​เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 เห็นชอบในหลักการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย และได้มีการแต่งตั้ง คณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน กระทรวงดีอีเอส และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้กำหนดหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และเป็นพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 40,412 หมู่บ้าน 

และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม  2559  ครม ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวดีอีเอส ขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม 24,700  หมู่บ้าน โดยใช้เงินงบประมาณปี 2559  และขอความร่วมมือให้ กสทช. ดำเนินการในหมู่บ้านส่วนที่เหลือเพิ่มเติมอีกจำนวน 15,712  หมู่บ้าน และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) 3,920 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณ USO ซึ่งได้แบ่งพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย  โดยเน็ตประชารัฐ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2560 

อย่างไรก็ตามทั้งโครงการเน็ตประชารัฐ เน็ตชายขอบ นั้น ประสบปัญหาทุกโครงการ ทั้งส่งมอบงานไม่ทันตามกำหนด การใช้โครงการข่ายไม่คุ้มค่า  ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้จริงจังในการแก้ไขปัญหา ทำให้ทั้ง 2 โครงการ มีปัญหาคาราคาซัง มาจนทุกวันนี้  โปรดติดตามตอนต่อไป……