“ประยุทธ์” เคาะงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน หั่นเหี้ยน “รายจ่ายประจำ-สัมมนา-เดินทางไปต่างประเทศ”



  • เตรียมชงเข้า ครม. พิจารณา วันที่ 5 ม.ค.2564
  • ผอ.สำนักงบฯ เผย มีเงินเยียวยาโควิด-19 ได้สบาย ๆ อีก 4 แสนล้าน
  • พร้อมเปิดทางกู้เพิ่มอีก หากมีการปิดประเทศ

วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงผลการประชุมการพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ.2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยเป็นการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีการพิจารณางบประมาณ เพื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2565

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 วงเงินประมาณ 185,900 ล้านบาท หรือ ลดลง 5.66% แบ่งออกเป็น งบรายจ่ายประจำ วงเงิน 2.354 ล้านล้านบาท หรือ 75% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจากงบรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งมีวงเงิน วงเงิน 2.537 ล้านล้านบาท หรือ 77% ของวงเงินงบประมาณ ประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 700,000 ล้านบาท งบลงทุน วงเงิน 620,000 ล้านบาท หรือ 20% ซึ่งคงไว้ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยลดลงจากปี 2564 ที่มีงบลงทุน 649,000 ล้านบาท ชำระคืนเงินต้นเงินกู้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ตั้งไว้ 99,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท

ขณะที่สมมุติฐานของสภาพัฒน์และธปท. ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 หรือ GDP ประมาณ  3.5% หรือ 17.328 ล้านล้านบาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่  1.2% ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 ม.ค. 2564

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณลดลงจากปี 2564 วงเงิน 185,900 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณรายจ่าย เนื่องจากสำนักงบประมาณมีนโยบายลงงบประมาณรายจ่ายประจำมาโดยตลอด โดยขอให้ให้ส่วนราชการทบทวน พิจารณาจากประสิทธิภาพในการใช้จ่าย การเบิกจ่ายและผลสัมฤทธิ์ เช่น งบลงทุน หรือ งบประจำ เป็นต้น

“กรณีเป็นงบรายจ่ายประจำ เราพยายามลดลงมา ในปี 2565 ลดลงเหลือ 75% ซึ่งส่วนประกอบของรายจ่ายประจำ คือ เงินเดือนข้าราชการ การรักษาพยาบาลประมาณล้านสองแล้ว เราพยายามลดรายจ่ายประจำ ซึ่งที่สามารถลดลงได้ หรือ ชะลอได้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การประชุมสัมมนาลดลงได้บางส่วน อย่างไรก็ตามที่สามารถลดลงได้ คือ เงินสมทบกองทุน โดยเฉพาะทีมีเงินของตัวเอง และส่วนราชการที่มีเงินนอก ที่มีรายได้จัดเก็บได้เอง และให้ส่วนราชการชะลอการขอเพิ่มงบรายจ่ายประจำ”

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีงบของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะจำนวนนักเรียนลดลง 5-6% ต่อปีอยู่แล้ว รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข ส่วนที่เป็นค่าจ้างพนักงานและลูกจ้างในปีทีผ่านมาที่ปรับสถานะมาเป็นข้าราชการ 45,000 อัตรา จึงไม่ได้ลดลง และไม่กระทบกับค่ารักษาพยาบาล

“นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายในที่ประชุมขอให้สำนักงบประมาณพิจารณางบประมาณในส่วนของรายจ่ายประจำ เพราะถึงแม้ว่าจะลดลง แต่คงไว้สำหรับการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เงินประกันสังคม กองทุนประกันสุขภาพ สวัสดิการของกลุ่มเปราะบางทั้งหมด คนพิการ คนชรา และเด็กเล็กตามนโยบายของรัฐบาล หรือ สำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านสังคมเราจะไม่ปรับลด ซึ่งตั้งไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 40,000 ล้านบาท”

ส่วนที่ผ่านมาในแต่ละปี วงเงินงบประมาณมี 3 ล้านล้านบาท แต่เสนอคำขอเข้ามา 5 ล้านล้าน จึงต้องคุยกับส่วนราชการ ว่า ความจำเป็นในการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นงบประจำ หรือ งบลงทุน สามารถชะลอได้หรือไม่สามารถใช้มาตรการอื่นได้หรือไม่ หมายถึงเงินนอก เพื่อรักษาวงเงินงบลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งกระเป๋าซ้าย คือ เงินงบประมาณ และกระเป๋าขวา คือ เงินนอกให้สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ต้องช่วยกัน ซึ่งเลขาฯสภาพัฒน์ได้กล่าวในที่ประชุมว่าต้องขอให้รัฐวิสาหกิจลงทุนเพิ่ม สำหรับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะไปดูว่าโครงการไหนสามารถร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้บ้าง

ทั้งนี้ เงินนอก คือ กองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุน TFF หรือ รัฐวิสาหกิจ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) ซึ่งต้องออกเป็นมาตรการ

สำหรับงบประมาณเกี่ยวกับการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังมีงบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของการเยียวยาวงเงิน 555,000 ล้านบาท และส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้งบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ตั้งไว้ในแต่ละปี สามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยา หรือ ผลกระทบสำหรับโควิด-19 ได้ สามารถใช้ไปถึงปีหน้าได้

ทั้งนี้ ในงบกลางฯ ปี 2565 ตั้งไว้เบื้องต้น  3% ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งอาจจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับคำขอของส่วนราชการ เพราะมีรายการที่ต้องตั้ง เช่น รายงานผูกพัน รายการที่เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล

“ต้องดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะล็อคไม่นาน เรายังมีเงินเยียวยา 400,000 ล้านและงบกลางปี 64 ที่กันไว้อีก 40,000 ล้าน ยังไม่ได้ใช้ รวมถึงงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 64 อีก 99,000 ล้านบาทหรือราว ๆ 140,000 ล้านบาท ไม่ต้องห่วง น่าจะพอ และถ้าอีก 1 เดือน สถานการณ์ดีขึ้น เราอาจจะไม่ต้องใช้”

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า หากประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขั้นเลวร้ายที่สุด หรือ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เงินมีเพียงพอที่จะเยียวยา หรือ มีเงินประมาณ 2-3 แสนล้านบาท รวมกับงบประมาณงบกลางและงบกลางกรณีฉุกเฉินฯ อีก รวมแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท “สบาย ๆ”

“ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม ตอนนี้สบาย ยังมีเงินในกระเป๋าเยอะ แต่หากถ้าปิดประเทศ เหมือนอังกฤษ หรือ ในยุโรป อันนั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งสัดส่วนเงินกู้ต่อจีดีพี 60% โดยประมาณ ประเทศอื่นเป็น 100% แล้วนะ ช่วงนี้เวลานี้ 60 เรายังมีวินัยอยู่ ส่วนจะขยายหรือไม่ต้องประชุมให้เป็นนโยบายรัฐบาล ถ้าจะกู้เพื่อบรรเทา ใครจะไปค้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย และที่ตั้งไว้ 60% เป็นเพียงตุ๊กตา ต่างประเทศไม่กำหนดหรอก 60 % บางประเทศ 70 –80% ญี่ปุ่น 100 % แล้ว แต่ถามว่า กู้มาทำอะไร ถ้ากู้มาเยียวยา มาบรรเทา ไม่มีใครว่าหรอก”