

- สั่งเชือดเอกชนหัวหมอร้องเรียนอุทธรณ์
- คดีกลั่นแกล้งให้เพิ่มโทษปรับเงินขึ้นบัญชีดำรับงานรัฐ
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯกำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อแก้ปัญหาและลดอุปสรรคในการทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ พร้อมกับเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เร่งดำเนินงานแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน หลังจากที่ผ่านมา การใช้ระเบียบ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉบับปัจจุบัน มีอุปสรรคงอยู่หลายประเด็นจนกระทบให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างล่าช้า
“ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรมบัญชีกลาง อาทิ กองการพัสดุภาครัฐ กองความร่วมมือและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง เป็นเร่งรวบรวมอุปสรรคปัญหา ทุกด้าน ทุกประเด็น และหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเพื่อยกร่างการแก้ไข พ.ร.บ. อย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาแม้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง จะมีข้อดีอยู่หลายเรื่อง แต่ในข้อที่เป็นอุปสรรคก็ต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างทำได้คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเกิดความโปร่งใส”
นายประภาศ กล่าวว่า เรื่องใหญ่ที่มีการปรับปรุงแน่นอน เช่น การวางระเบียบเรื่องการอุทธรณ์และร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาได้เกิดการร้องเรียนเรื่องที่ไม่มีมูล หรือร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งจำนวนมาก จนทำให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการไม่สามารถเดินหน้าทำ และกระทบต่อการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นในระเบียบใหม่จะมีการกำหนดบทลงโทษเพิ่มเข้ามา หากพบมีการร้องเรียนและพิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล หรือมีเจตนาเพื่อประวิงเวลา กลั่นแกล้งคู่แข่ง จะต้องมีบทลงโทษเสียค่าปรับ รวมถึงอาจถูกขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าร่วมรับงานประมูลของภาครัฐด้วย ซึ่งเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปัจจุบันที่ไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้
“การแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.จัดซื้อจัดของภาครัฐฯ ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดที่กรมฯจะต้องเร่งทำ และเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศพิจารณาเพื่อเดินหน้าให้เร็วที่สุด และสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณออกไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่สถานการณ์ไวรัสโควิดกำลังแพร่ระบาด การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐมีความสำคัญมาก ที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ตามท่ามกลางความผันผวนจากทั้งภายในประเทศ และเศรษฐกิจทั่วโลก”
นอกจากนี้ กรมจะเร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยอาจเพิ่มบัญชีรายการยา และค่ารักษาพยาบาลให้สามารถเบิกจ่ายได้มากขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะเดียวกันจะปรับปรุงระเบียบเพื่อลดปัญหาการฉ้อฉลจากเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้มีความรัดกุม เช่น ลดการรั่วไหลจากงบประมาณของรัฐบาล
“ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ กรมฯจะออกหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิและการเรียกคืนเงิน เพื่อควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง หลังจากที่ผ่านมาตรวจสอบพบว่า ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว มีพฤติกรรมใช้สิทธิระบบเบิกจ่ายตรงผิดปกติ โดยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลหลายแห่งระยะเวลาใกล้เคียงกัน หรือมีการเข้ารับบริการหลายสถานพยาบาลด้วยโรคเดียวกัน ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ระงับสิทธิของบุคคลดังกล่าวทุกรายโดยทันทีที่ตรวจสอบพบ และขอเรียกเงินคืนหากพบว่ากระทำผิด”