

- ได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น
- ย้ำเดินหน้าทำคิวอีเดือนละ 1.2 แสนล้านเหรียญฯ
- ชี้ยังไม่กำหนดเวลาขึ้นดอกเบี้ยย้ำเป็นเรื่องห่างไกล
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงภายหลังการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ (ตามเวลาสหรัฐฯ) ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เพราะได้รรับแรงหนุนจากอุปสงค์แข็งแกร่งอย่างมาก ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังกล่าวต่อว่า เฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) อย่างน้อยเดือนละ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็น ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯวงเงิน 80,000 ล้านเหรียญฯ และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (เอ็มบีเอส) อีก 40,000 ล้านเหรียญฯ
“มาตรการเหล่านี้ รวมทั้งการส่งสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และงบดุลของเฟด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพยุงเศรษฐกิจไปจนกว่าการฟื้นตัวจะบรรลุเป้าหมายและขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่คณะกรรมการเฟด จะพิจารณาถึงเรื่องการปรับลดการใช้มาตรการเหล่านี้”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ระดับใกล้0% ไปจนถึงปี 66 แต่มีกรรมการเฟด 7 ใน 18 คน คาดว่า อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 66 จากการคาดการณ์ในช่วงเดือนธ.ค.63 ที่ว่า จะมีกรรมการเฟดเพียง 5 ใน 17 คนที่คาดการณ์ว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 66
นายพาวเวล กล่าวต่อถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่มีการหารือกันในระหว่างการประชุมเฟดครั้งนี้ว่า สมาชิกทุกคนในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) มีหลักเกณฑ์ 3 ประการที่อาจทำให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ได้แก่ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ, อัตราเงินเฟ้อแตะระดับเป้าหมายที่ 2% และอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเหนือเป้าหมายที่ระดับ 2% ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
“ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก และผมไม่ต้องการมุ่งเน้นเรื่องการกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกลในอนาคต”
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า มาตรการสนับสนุนด้านการคลังจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่มาตรการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นศักยภาพด้านการผลิต หรือยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน
“สิ่งที่สภาคองเกรสกำลังดำเนินการในขณะนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้ และจะช่วยสนับสนุนประชาชนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ แต่สิ่งที่เราควรจะจับตาดูในระยะยาวคือความแข็งแกร่งด้านการลงทุน”