ประชาพิจารณ์ผ่านแล้ว… กองสลากฯ เตรียมชงคลัง เสนอครม. ผุดผลิตภัณฑ์ใหม่ “สลากเลข 6 หลัก – สลากเลข 3 หลัก”



วันนี้ (29 ก.ย.65) นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะประธานกรรมการศึกษาผลิตภัณฑ์และเกมสลากรูปแบบอื่นๆ เปิดเผยถึงความคืบหน้า เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบ L6 (สลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 6 หลัก) และ N3 (สลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 3 หลัก) ว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำปี 2565  เรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ ได้ดำเนินการการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ว่าผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนใหญ่เห็นด้วยในประเภท และรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งสองรูปแบบดังกล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการสลากฯ ได้เห็นชอบความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนต่อไป สำนักงานสลากฯ จะทำหนังสือถึง รมว.คลัง เพื่อแจ้งเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากประจำปี 2565 เพื่อพิจารณานำเสนอขอความเห็นชอบ เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งกระบวนทั้งหมดจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท อันได้แก่ 1. สลากกินแบ่งรัฐบาลเลข 6 หลัก หรือ L6 ราคา 80 บาท เป็นแบบไม่สะสมเงินรางวัล และเป็นรูปแบบใบสลาก 2. สลากกิแบ่งรัฐบาลเลข 6 หลัก หรือ L6 ราคา80 บาท เป็นแบบไม่สะสมเงินรางวัล แต่อยู่ในรูปแบบสลากดิจิทัล และ 3.สลากกิแบ่งรัฐบาลเลข 3 หลัก หรือ N3 เป็นรูปแบบสะสมเงินรางวัล โดยรางวัลมีทั้งรูปแบบ 3 ตัวตรง 3 ตัวโต๊ด และรางวัล 2 ตัวตรง รวมถึงมีรางวัลแจ็คพอตทั้งนี้รายได้จากยอดขาย 60% จะกันไว้จ่ายเป็นเงินรางวัลตามกฎหมาย ส่วนรายละเอียดเรื่องการรับตัวแทนจำหน่ายจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องรอหารือร่วมกันอีกครั้ง

“ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่เห็นว่า การออกสลากผลิตภัณฑ์ใหม่แบบดิจิทัลจะช่วยแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ในขณะเดียวกัน ยังคงมีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบเชิงความห่วงใยอยู่บ้าง แต่ก็ได้มีแนวทางและมาตรการในการลดความกังวลใจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุม และป้องกันการซื้อสลาก

กินแบ่งรัฐบาลของเด็กและเยาวชน รวมถึงการจำกัดปริมาณการซื้อสลากให้เหมาะสมสำหรับผู้ซื้อบางกลุ่ม ตลอดจนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”