ประชาชนแห่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง-สายสีม่วง 1.17 แสนคน/เที่ยว

กรมการขนส่งทางราง เผยหลังเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) วันแรก ค่าโดยสารสูงสุดรวม 20 บาท มีคนใช้รวม 1.17 แสนคน-เที่ยว ดันยอดใช้บริการสายสีแดงและสายสีม่วง (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการมา

  • สายสีแดงคนใช้ 34,719 คน-เที่ยว
  • สายสีม่วง83,274 คน-เที่ยว
  • สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา

วันที่ 2 ธันวาคม 2566 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวาน (1 ธันวาคม 2566) เป็นวันศุกร์แรกหลังเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ด้วยค่าโดยสารสูงสุดรวม 20 บาท เมื่อใช้บัตร EMV ที่สถานีบางซ่อน เป็นผลให้มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 34,719 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 145 คน-เที่ยว) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) 83,274 คน-เที่ยว รวม 1.17 แสนคน-เที่ยว

ถือว่าสูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ Covid-19 (สูงสุดครั้งล่าสุด สายสีแดง เมื่อ 27ต.ค.66 จำนวน 34,161 คน-เที่ยว และสายสีม่วง เมื่อ 27 พ.ย.66 จำนวน 82,358 คน-เที่ยว) นอกจากนี้ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (PK01) และโครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ((สายสีม่วง) (PP11))

สำหรับภาพรวมจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2566 พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,876,215 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 83,223 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
1.1 ขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ จำนวน 30,503 คน-เที่ยว
1.2 ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 52,720 คน-เที่ยว

  1. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,792,992 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
    2.1 รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 74,436 คน-เที่ยว
    2.2 รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จำนวน 34,719 คน-เที่ยว (นิวไฮ) (รวมรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี จำนวน 145 คน-เที่ยว)
    2.3 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 505,682 คน-เที่ยว
    2.4 รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 83,274 คน-เที่ยว (นิวไฮ)
    2.5 รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทและสายสีลม จำนวน 946,650 คน-เที่ยว
    2.6 รถไฟฟ้า สายสีทอง จำนวน 6,978 คน-เที่ยว
    2.7 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จำนวน 46,750 คน-เที่ยว
    2.8 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จำนวน 94,503 คน-เที่ยว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนเพื่อให้มีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางในอัตราเดียว 20 บาท ทุกการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ให้บริการขนส่งมวลชนทางราง และภาคประชาชน เพื่อรองรับการใช้บริการขนส่งมวลชนทางรางให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มและสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างเท่าเทียม

และเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชนรับเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ใกล้จะถึงนี้ กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ระยะที่ 2 กรณีเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของ รฟท. และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. ซึ่งระบบการเดินทางของรถไฟฟ้าทั้งสองสายนั้น มีสถานีเชื่อมต่อการเปลี่ยนถ่ายระบบอยู่ที่สถานีบางซ่อน จะได้รับสิทธิ์ชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท เท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ให้ความสำคัญกับการต่อยอดนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะโดยเฉพาะระบบรางมากยิ่งขึ้นอีกด้วย