

- ประธาน TCEB นำคณะทีมไทยบุกกรุงปารีสจัดยิ่งใหญ่ “Thailand Symposia” ตอกย้ำพร้อมเป็นเจ้าภาพจัด “Expo 2028 Phuket Thailand” ปี’71
- “ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติขึ้นเวทีโชว์ “ดอยตุงโมเดล” สร้างชุมชนพึ่งพาตนเองต้นแบบพัฒนาโลกยั่งยืน
- ทางด้านภูเก็ตเร่งเดินหน้า 3 โปรเจกต์ ชดเชยคาร์บอน ลดขยะอาหาร และจุดหมายเส้นทางเที่ยวคาร์บอนต่ำ
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำคณะประเทศไทยจัดงาน Thailand Symposia ผู้แทนคณะกรรมการเสนอตัวรับสิทธิการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ได้นำคณะผู้แทนประเทศไทย พร้อมผู้บริหารทีเส็บเดินทางจัดงาน Thailand Symposia เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ ปาวิญ็องกาเบรียล – โปเต็ลเอชาโบต์ นครปารีส ฝรั่งเศส เพื่อนำเสนอความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand แก่สมาชิกจากองค์การนิทรรศการนานาชาติ ( BIE : Bureau International des Expositions) และคณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิก BIE
ระหว่างการจัดงานแต่ละฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกถึงการเตรียมเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 ภายใต้แนวคิดหลัก“Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity” ประกาศความพร้อมภูเก็ตและประเทศไทยผ่านปฏิญญาภูเก็ต (Phuket Declaration) ในเวทีโลก พร้อมเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนประชาคมโลกเดินหน้าสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล สร้างมรดกและอนาคตที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่มีความสุข รุ่งเรืองและทัดเทียม

พร้อมกับนำเสนอกรณีศึกษาด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความตระหนักของชาวไทยและยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยได้ตอกย้ำพันธกิจของประเทศไทยมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ครบทุกด้านเปิดเวทีโลกและโอกาสให้ทุกประเทศได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนความเห็น และ ร่วมมือกันหาทางออก เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติอย่างสมดุล
นายชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ผู้กำกับภาพและผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์วาฬไทยและเว็บไซต์Thai Whales กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในตัวแทนไทยเป็นวิทยากรขึ้นเวที Thailand Symposia ได้นำเสนอเรื่องวาฬและเต่ามะเฟืองซึ่งเป็นดัชนีสำคัญสะท้อนความสมบูรณ์ของท้องทะเลและสภาพแวดล้อม ดังนั้นจึงจะใช้งาน Expo 2028 รณรงค์ร่วมกันหาทางออกการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสัตว์โลกเพื่ออนาคตที่สมดุลและยั่งยืน ด้วยการปลุกจิตทุกคนร่วมลงมือทำกิจกรรมที่ตอกย้ำแสดงความห่วงใยและใช้ชีวิตกับธรรมชาติร่วมกับสัตว์โลกอย่างสันติสุข เพราะมนุษย์ไม่สามารถเป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่มีชีวิตรอดในโลกใบนี้ได้

ดร.วิรไท สันติประภพ เลขาธิการ และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นเวทีแสดงถึงปณิธาน “ด้านความยั่งยืนจของประเทศไทย ผ่านโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จังหวัดเชียงราย จากจุดเริ่มต้นปลูกพืชทดแทนยาเสพติด (Alternative Development Project) สู่โครงการพัฒนาทางเลือกที่หลากหลายในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Livelihood Development Project)
“โครงการดอยตุง” เป็นโมเดลตัวอย่างมุ่งเน้นสร้างคนและชุมชน เริ่มจากการพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ สู่การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน กระทั่งกลายเป็นพลังสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโมเดลดอยตุง/แม่ฟ้าหลวง ไม่ได้สิ้นสุดที่ชายแดนไทยเท่านั้น แต่ยังได้ไปพัฒนาพื้นที่สู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีหัวใจหลักเรื่องการให้ชุมชนสามารถดูแลพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกมูลนิธิการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมีแผนแม่บทเพื่อความยั่งยืนจังหวัดและกิจกรรมสนับสนุนมุ่งสู่ความยั่งยืนทุกมิติบวกกับขณะนี้กำลังดำเนินอยู่อีก 3 โครงการ ได้แก่ 1.กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Individual Carbon Offset) 2.การลดขยะอาหาร (Food before Waste ) และ 3.พัฒนาเป็นจุดหมายปลายทางแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination)
ควบคู่มาตรฐานการบริการ จำนวนที่พัก อาหาร ธรรมชาติงดงาม ความสะดวกในการเดินทาง วัฒนธรรมหลากหลายยุทธศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัด และอื่น ๆ รวมถึงได้รับงบสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อต่อยอดความพร้อมการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัด Expo 2028 ด้วย
นายยศพล บุญสม ผู้แทนทีมสถาปนิกการออกแบบโครงการ ยืนยันว่า ในฐานะตัวแทนการออกแบบพื้นที่งาน Expo 2028 มีความมั่นใจใช้ทุกพื้นที่ทุกรายละเอียดงาน Expo โดยได้ออกแบบให้สอดรับกับแนวคิดหลักของงาน 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 มนุษย์ควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้อย่างสันติสุข มีความเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนที่ 2 การพัฒนาพื้นที่จัดงานโดยยึดแนวคิดครอบคลุมแต่ละมิติ 3 P คือ People Planet และ Prosperity อันเป็นหัวใจหลักสร้าง 3 เปลี่ยน คือ 1.เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส 2.เปลี่ยนแรงผลักดันเป็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมส่วนที่ 3 เปลี่ยนความคิดเป็นการกระทำ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อนาคตที่ยั่งยืน
นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ กล่าวสรุปปิดท้ายงานว่า คณะผู้แทนประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นศักยภาพที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand อันจะนำไปการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลต่ออนาคตของประชาคมโลก ด้วยจุดเด่นของไทยอีกประการคือ การให้ความสำคัญและสร้างความเท่าเทียมกับการมีส่วนร่วมงานจากทุกประเทศทั่วโลก โดยได้จัดงบประมาณสนับสนุนให้ทุกประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าร่วมงานอย่างทั่วถึงครบทุกขั้นตอน

รวมทั้งไทยยังเพิ่มการสนับสนุนรูปแบบอื่นๆ หรือตามที่แต่ละประเทศร้องขอ เช่น เวิร์คช้อปเสริมสร้างทักษะ โปรแกรมการเรียนรู้และทุนการศึกษา โดยมีเป้าหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และการเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่ยั่งยืนและยืนยาวร่วมกันกับทุกประเทศที่มีโอกาสเข้าร่วม Expo 2028 ในอีก 5 ปีหน้าต่อไป
สำหรับประเทศไทย วางแผนเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand รวม 90 วัน ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม -17 มิถุนายน 2566 ในพื้นที่ 141 ไร่ บริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนการเตรียมความพร้อม 4,180 ล้านบาท
หวังผลความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand หลัก ๆ ประกอบด้วย “สร้างรายได้” เข้าประเทศ 49,231 ล้านบาท “ดึงคนเข้าร่วมงาน” ทั้งคนไทยและต่างชาติจาก106 ประเทศรวม 4.92 ล้านคน “สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี” กว่า 39,357 ล้านบาท “เกิดการจ้างงาน” กว่า 110,000 ตำแหน่งและ “ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย” ยกระดับขึ้นเป็นจุดหมายปลายทาง 6 จังหวัดรอบทะเลอันดามันเป็น World Medical Hub หรือศูนย์กลางบริการสุขภาพองค์รวมของโลก
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen