“บางกอกแอร์เวย์ส” มั่นใจอุตสาหกรรมการบินปี 66 คึกคัก หนุนท่องเที่ยวกลับมาโต



  • เผยเตรียมเที่ยวบินกว่า 4 หมื่นเที่ยว ฟื้นเที่ยวไทย
  • หวังดึงผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน -บริษัทกลับมามีกำไร
  • วอน!รัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนบุคคลากรทางด้านอุตสาหกรรมการบิน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า จากที่อุตสาหกรรมการบินกลับมาโตต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวฟื้นตัวและมีการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก ในส่วนของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส พบว่ายอดจองบัตรโดยสารเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือน ก.ค. 65 เป็นต้นมา ทั้งการเดินทางในประเทศ และระหว่างประเทศ ทำให้ปี 65 มียอดขนส่งผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 394.8% และ มีจำนวนเที่ยวบินให้บริการรวม 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 243.8% เมื่อเทียบกับปี 64 อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาโตแต่ในปี 65คาดว่าบริษัทจะขาดทุนสุทธิกว่า 2,100 ล้านบาท ส่วนในปี66 บริษัทฯ วางเป้าหมายและคาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน โดยจะมีรายได้จากผู้โดยสาร 15,000 ล้านบาท มีเที่ยวบินให้บริการรวมกว่า 40,000 เที่ยวบิน มีอัตราการบรรทุกปริมาณขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 76% โดยมีเที่ยวบินให้บริการในเส้นทางภายในประเทศ 15 เส้นทาง เส้นทางระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง

ส่วนแผนการปรับฝูงบินเพื่อให้บริการนั้น ในปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์ส มีเครื่องบินทั้งสิ้น 32 ลำ เหลือทำการบินจริงที่21-22 ลำ  อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินเพื่อมมาทดแทนเครื่องบินที่ขาย และครบกำหนดเช่า เนื่องจากสถานการณ์การบินกลับมาโต ทำให้พบว่าปัญหาที่ไม่สามารถเพิ่มฝูงบินได้ทันสถานการณ์เนื่องจากเครื่องบินที่จอดรอ หากจะนำมาซ่อมปรับปรุงในขณะนี้ไม่สามารถทำได้ทันทีเพราะโรงซ่อมมีคิวปรับปรุงยาวส่วนการเปลี่ยนอะไหล่ต่างๆก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขาดแคลนบุคคลากรทางด้านอุตสาหกรรมการบิน  ซึ่งนอกจากขาดแคลนบุคลากรทางด้านช่างแล้ว อุตสาหกรรมการบินยังขาดแคลนบุคลากรทางการบริการภาคพื้น เช่นพนักงานขนกระเป๋า เป็นต้น ที่ขนาดเปิดรับสมัครหลายๆครั้งก็ไม่ค่อยมีคนกลับมาสมัครงาน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ของ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นั้น ยอมรับว่าการดำเนินการในโครงการมีความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการลงทุน จากเดิมทาง อีอีซี จะต้องมีการส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทภายใน ม.ค.66 แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันทางบริษัทเตรียมที่จะเสนอขอขยายแผนการดำเนินการลงทุนจาก 4 เฟส เป็น 6 เฟสรวมถึงได้เตรียมความพร้อมในด้านการออกแบบวางแผนงานและการจัดสรรบุคลากร ตลอดจนถึงการเตรียมงานด้านการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมได้อย่างทันท่วงทีเมื่อได้รับการลงนามในสัญญาด้านการส่งมอบพื้นที่สำหรับการก่อสร้างในอนาคต