บสย. ลุยต่อลมหายใจให้ “เอสเอ็มอี” เสนอคลังขอวงเงินค้ำประกันสินเชื่ออีก 1.8 แสนล้านบาท



  • โชว์ยอดอนุมัติค้ำสินเชื่อ 6 เดือนแรกปี 65 รวมกว่า 9.29 หมื่นล้านบาท
  • ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย
  • เผยยอดค้ำกลุ่มเกษตรมาแรง ภาคใต้ครองแชมป์
  • ลูกหนี้ปลื้ม “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน ช่วยธุรกิจยืนได้

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บสย. อยู่ระหว่างกำลังเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้สนับสนุนวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในช่วงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว รวมเป็นวงเงินกว่า 180,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พีจีเอส 10 วงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี35,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 180,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ไมโคร 5 วงเงิน30,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ 120,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อที่ 30,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สำหรับผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. รอบ 6 เดือน (1 ม.ค.- 30 มิ.ย.65) บสย.อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 92,879 ล้านบาท โดยยอดค้ำประกัน 50%  มาจาก โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (พีจีเอส 9) วงเงิน 46,314 ล้านบาท อันดับ 2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู สัดส่วน 39% วงเงิน 36,425 ล้านบาท และอันดับ 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (ไมโคร 4) สัดส่วน 5% วงเงิน 4,473 ล้านบาทและ โครงการอื่นๆ สัดส่วน 6% วงเงิน 5,667 ล้านบาท  

นายสิทธิกร กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจยอดค้ำประกันสูงสุด คือ 1. ธุรกิจบริการ  28% 2. กลุ่มเกษตรกรรม 12% 3. ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้า 11% สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit Multiplier) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 102,544 ล้านบาท  รักษาการจ้างงานรวม620,164 ตำแหน่ง และ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 383,592 ล้านบาท  (Economic Benefit Multiplier เท่ากับ4.13 เท่า)  

นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (พีจีเอส 9) วงเงิน 150,000 ล้านบาทเป็นโครงการตามมาตรการรัฐ โดยสนับสนุนจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยเงื่อนไขการค้ำประกันดีที่สุด ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสูงสุด 3 ปี ระยะเวลาการค้ำ 10 ปี และได้รับความนิยมจากสถาบันการเงิน โดยสิ้นสุดโครงการ ในวันที่ 30 พ.ย. 65

“ปัจจุบัน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พีจีเอส 9 เหลือวงเงินค้ำประกันอีกประมาณ 17,000 ล้านบาท (ณ วันที่ 12 ก.ค.65) ซึ่งคาดว่าวงเงินดังกล่าวนี้ จะใช้เวลาค้ำประกันหมดภายในช่วง ก.ย.นี้” นายสิทธิกร กล่าว

ทั้งนี้ บสย. ยังมีผลการค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจเกษตรกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2% จาก 10% ในปี 64 เป็น 12% ในปี 65 คิดเป็นวงเงินค้ำ 11,001 ล้านบาท โดยภาคใต้ครองแชมป์ยอดค้ำสูงสุด สัดส่วน 25% วงเงิน  2,774 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วน 19% วงเงิน 2,028 ล้านบาท  ภาคเหนือ สัดส่วน 18 % วงเงิน1,943 ล้านบาท กรุงเทพและปริมณฑล สัดส่วน 15 % วงเงิน 1,639 ล้านบาท ภาคกลาง สัดส่วน 12% วงเงิน 1,365 ล้านบาท และภาคตะวันออก สัดส่วน 11% วงเงิน 1,251 ล้านบาท

นอกจากนี้ บสย. ยังประสบผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ภายใต้โครงการ “บสย. พร้อมช่วย”  แก้หนี้อย่างยั่งยืน เช่น การประนอมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ที่ได้รับการยอมรับจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการประนอมหนี้ ว่าเป็นโครงการเชิงรุกที่ยอดเยี่ยม ที่สามารถช่วยประคองธุรกิจได้จริงด้วยโมเดลการประนอมหนี้ที่มีความยืดหยุ่น เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 1 (สีม่วง) ยืดหยุ่น เพื่อให้ “ลูกหนี้”  ยืนได้และก้าวต่อไป ตัดต้น 20% ดอกเบี้ย 80% ผ่อนนาน 5 ปีมาตรการที่ 2 (สีเหลือง) เบาใจ เบาแรง “หนี้ลดหมดแน่นอน” ชำระครั้งแรก 1% ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ผ่อนนาน 5 ปีและ มาตรการที่ 3 (สีเขียว) ชำระครั้งแรก 10% ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 7 ปี โดยทั้ง 3 มาตรการมีลูกหนี้ติดต่อเข้ารับการประนอมหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ 6,372 ราย สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆของ บสย. แล้ว 1,019 ราย คิดเป็นสัดส่วนความสำเร็จของการช่วยเหลือ (Success Rate) 16%  คิดเป็นวงเงินประนอมหนี้ 722 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ สามารถเข้าถึงลูกหนี้ได้กว่า 75% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมทั้งหมด โครงการ “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. โดยเปิดช่องทางการส่งคำขอปรับโครงสร้างหนี้ มาที่บสย. ได้ทุกช่องทาง ทั้ง Call Center  02-890-9999