บสย. ปรับโครงสร้าง วาง 6 ขุนพล เสริมแกร่งค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ

  • ขับเคลื่อนนโยบาย-เพิ่มขีดความสามารถ
  • รับโลกเปลี่ยนแปลงสู่ New Normal


นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่าในโอกาสที่ บสย. ก้าวสู่ปีที่ 29 บสย. จึงประกาศปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการทำงานด้านการให้บริการค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ให้เหมาะกับการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ตามแผนวิสาหกิจของ บสย. และพร้อมรับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ( New Normal)​ ที่สภาพธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย

ทั้งนี้ โครงสร้างองค์กรใหม่ ประกอบด้วย 6 สายงาน ได้แก่
1. นายวิเชษฐ วรกุล ตำแหน่ง รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานบริหารช่องทางและพัฒนาผู้ประกอบการ
2. นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ ตำแหน่ง รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานปฏิบัติการ
3. นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ ตำแหน่ง รองผู้จัดการทั่วไป สายงานการเงิน
4.นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ตำแหน่ง รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสารสนเทศและดิจิทัล
5.นางดุสิดา ทัพวงษ์ ตำแหน่ง รองผู้จัดการทั่วไป สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์
6.นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ตำแหน่ง รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน

อย่างไรก็ตามทั้ง 6 สายงาน จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลแบบเชิงรุก เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รวดเร็ว ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจแห่งชาติให้แก่เอาเอ็มอี เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน“ ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
2.เสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้ เอสเอ็มอี มีความรู้ด้านการเงิน
3.ขยายบทบาทสู่การเป็นตัวกลางทางการเงิน จับคู่กลุ่มที่ต้องการเงินทุนกับแหล่งทุนหมุนเวียน
4.จัดหาแหล่งทุนโดย บสย. ทำหน้าที่จัดการกองทุน และปล่อยสินเชื่อ
5.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และเพิ่มรายได้

“โครงสร้างใหม่ บสย. จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างองค์กร เพื่อให้บริการด้านการค้ำประกันสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านทางสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทันต่อการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 รวมถึงองค์กรต้องปรับตัวพร้อมรับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ( New Normal)​ด้วย”