

- คาดช่วยกลุ่มเปราะบาง-เอสเอ็มอีทั่วไปกว่า 100,000 ราย
- ปีนี้บสย.ยังเหลือเงินค้ำประกันได้อีก 100, 000 ล้านบาท
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)กล่าว ล่าสุดบสย.ได้ออกโครงการค้ำประกันทั้งหมด 6 โครงการ วงเงินค้ำประกันกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมาตรการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน ผ่านธนาคารที่เป็นพันธมิตรกับ บสย. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มที่เปราะบางและรวมถึงผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีทั่วไปกว่า 100,000 ราย
“คาดว่า วงเงินค้ำประกันแบบเร่งด่วนดังกล่าว จะสามารถรองรับกรณีที่อาจเกิดวิกฤตในช่วง 3 -4 เดือนต่อจากนี้ เพราะจากสถิติในช่วงวิกฤต บสย.มีคำขอค้ำประกันเฉลี่ยเดือนละ 10, 000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่เพียงพอ ในปีนี้ บสย.ยังมีวงเงินเหลือที่จะค้ำประกันได้อีก 100, 000 ล้านบาท”
สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ 6 โครงการนั้น แบ่งเป็น 2 โครงการ ที่ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง สู้ภัยโควิด ประกอบด้วย 1.โครงการ บสย. เอสเอ็มอีไทย สู้ภัยโควิด ซึ่งจะฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรายละ 200,000 บาท -20 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท และ MAX CLAIM สูงสุด 35%
ส่วนโครงการที่ 2 คือ บสย. รายย่อยไทย สู้ภัยโควิด ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย 10,000-100,000 บาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท MAX CLAIM สูงสุด 40% โดยที่ผ่านมา บสย. ให้ MAX CLAIM สูงสุดอยู่ที่ 25-30% แต่เมื่อโควิดกลับมา จึงเพิ่มเสื้อเกาะให้ผู้ประกอบการ โดยขยาย MAX CLAIM สูงสุดถึง 40% เพื่อให้สามารถดูดพิษหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)
ขณะที่โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปจะมี 4 โครงการ โดยจะฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี ประกอบด้วย 1.โครงการ บสย. เอสเอ็มอี ดีแน่นอน วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 200,000 บาท-100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 20,000 ล้านบาท
2.โครงการ บสย. เอสเอ็มอี บัญชีเดียว วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 200,000 บาท-100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท
3.โครงการ บสย.เอสเอ็มอี ที่ได้รับสินเชื่อหนังสือค้ำประกัน (LG) วงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 200,000 บาท-100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 2,000 ล้านบาท
4.โครงการ บสย. รายย่อย ทั่วไป วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 10,000-500,000 บาท วงเงินจัดสรร 3,000 ล้านบาท

“โครงการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนดังกล่าวนั้น มีแรงจูงใจเพื่อให้สถาบันที่เป็นพันธมิตรกับ บสย.ซึ่งมีอยู่ 6 สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบางเหล่านั้น ที่อาจเป็นพ่อค้าแม่ค้า แผงลอย ผู้ประกอบการในธุรกิจระดับฐานราก และกลุ่มอาชีพอิสระ โดยกำหนด max claim สูงกว่าในอดีต โดยมี Max claim อยู่ที่ 35 –40% ขณะที่ในอดีต Max Claim อยู่ที่ 25 -30%”
นอกจากนี้ บสย. ยังได้ร่วมค้ำประกันสินเชื่อในโครงการ Soft Loan Plus ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 2,000 ล้านบาท จึงมีวงเงินเหลืออยู่ 55,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์ให้เอสเอ็มอีสามารถกู้ได้ 2 ครั้ง แต่ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 จะสนับสนุนให้ บสย. สามารถค้ำประกันส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บสย. ยังมีโครงการ บสย. เอสเอ็มอีไทยชนะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท