

- บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป “SPA” ขานรับสัญญาณดีตลาดทั่วโลกเฮเที่ยวไทย
- นำ 2 แบรนด์ “ระรินจินดา-Let’s Relax” ชิงขาย 3 ตลาดคุณภาพทำเงินสูงโตสองหลัก
- “ยุโรป-อเมริกา-ตะวันออกกลาง” เร่งขายโปรดักซ์ฮ็อต “นวดไทย-ประคบสมุนไพรสด” บุกขยายลงทุน “สปาโรงแรม”
- นำร่องที่ “Let’s Relax Onsen & Spa Pattaya ในโรงแรม Grande Centre Point Space Pattaya
- ออนเซนต้นตำรับญี่ปุ่นวิวทะเลแห่งแรกในไทยเริ่มบริการ ส.ค.นี้ ปี’65 เล็งขยายเพิ่มอีก 2-3 สาขา
นายณรัล วิวรรธไกร กรรมการบริหาร บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “SPA” เปิดเผยว่า ในฐานะเจ้าของแบรนด์สปาระรินจินดาระดับพรีเมี่ยมและ Let’s Relax ระดับกลาง ขณะนี้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจตั้งแต่พฤษภาคม 2565 จนถึงปัจจุบันอัตราการเติบโตเป็นสองหลัก ต่อเนื่องหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 มีตลาดต่างประเทศเริ่เข้ามาไทยกลุ่มหลัก คือ ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับเอเชียมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ยกเว้นสาธาณรัฐประชาชนจีน จึงได้วางแผนใช้ 2 แบรนด์ เป็นหัวหอก เริ่มจากแบรนด์แรก“ระรินจินดา” สปาพรีเมี่ยม กับแบรนด์ที่ 2 Let’s Relax ระดับกลาง ขับเคลื่อนตลาดการขายเจาะกลุ่มคุณภาพสูงสอดคล้องกับแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปี 2565-2566 รุกเจาะตลาดหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.นักเดินทางอิสระด้วยตนเองหรือ FIT :Fee Individual Travel 2.กลุ่มครอบครัว 3.กลุ่มคอร์ปอเรต จำนวนขนาดเล็กและขนาดกลาง
โดยวางกลยุทธ์รุกตลาดต่างประเทศตามแนวของ ททท.คือ เน้น 1.ตลาดระยะใกล้ (shorthaul) อย่าง มาเลเซียสิงคโปร์ เกาหลี เน้นตลาดเอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง ผลักดันต่อเนื่องให้จดจำแบรนด์ได้เป็นอย่างดี 2.ตลาดระยะไกล (longhaul) พุ่งเป้าเจาะกลุ่ม ยุโรป อเมริกา

ส่วนกิจกรรมทำสปายอดนิยมคือ “นวดไทย” ครองใจตลาดต่างประเทศเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนข้อดีของ Let’s Relax ได้ลงทุนเปิดบริการตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลักทั้งหมด ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงบริการ Let’s Relax ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ
แบรนด์ Let’s Relax มี “นวดไทย” เป็นบริการอันดับ 1 หลังจากห่างหายกันไปกว่า 2 ปี นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คิดถึงบริการแบบไทยในมิติต่าง ๆ
แบรนด์ “ระรินจินดา” ได้รับความนิยมเพิ่มคือเมนู “นวดประคบสดด้วยสมุนไพร” ซึ่งสอดแทรกไว้ในทุกเมนูทรีตเมนท์ผสมผสานระหว่างสมุนไพรกับน้ำมันหอมระเหย ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสบายมากยิ่งขึ้น
ขณะนี้ทั้ง 2 แบรนด์ ได้รับความนิยมกระแสตอบรับค่อนข้างดี 2 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ กับภูเก็ต ได้รับปัจจัยบวกจากมีเที่ยวบินตรงไป-กลับ อย่างสะดวกจากยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ “ภูเก็ต” เป็นต้นแบบเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ปี 2564 มีเที่ยวบินตรงขอเพิ่มความถี่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นผลดีกับสปาด้วย

ส่วนพื้นที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ อย่างหัวหิน พัทยา ก็ได้อานิสงนักท่องเที่ยวต่างประเทศบินมาลงสุวรรณภูมินั่งรถต่อไปอีกประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งทางภาครัฐก็พยายามกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ
นายณรัล กล่าวว่า ทางฝ่ายบริหาร SPA มีแผนต่อยอดขยายการลงทุนหลังเปิดประเทศและโควิด-19 ผ่อนคลายลงโดยจะเข้าบริหาร “สปาในโรงแรม” เพราะหลายโรงแรมที่กลับมาเปิดบริการต้องการนำจุดขายเรื่อง เวลเนส สปา มาเป็นไฮไลต์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 น่าจะมีเปิดอีก 2-3 สาขา เริ่มตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ได้เปิด Let’s Relax Onsen & Spa Pattaya ในโรงแรม Grande Centre Point Space Pattaya ถือเป็นออนเซนวิวทะเลแห่งแรกในประเทศไทยขนาดพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร ซึ่งพร้อมมอบประสบการณ์ที่สุดของความผ่อนคลายที่คุณจะไม่มีวันลืม รายล้อมด้วยบรรยากาศของพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น 7 และ ชั้น 8 สามารถมองเห็นวิวของท้องทะเลอันสวยงามได้อย่างลงตัวเพิ่มประสบการณ์ออนเซนแนวใหม่โดยนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นเหมือนเดิมพร้อมจุดขายวิว 360 องศา มองเห็นหาดพัทยากับแหลมบาลีฮาย ชัดเจน สร้างการรับรู้แบบอินเตอร์แอคทีฟได้ที่ห้อง Whirlpool บริการห้องหินร้อนช่วยผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

โดยมีออนเซนอุดมด้วยประโยชน์มากมาย ให้เลือกใช้มากถึง 5 บ่อ ได้แก่ 1.บ่อน้ำแร่เกโระ -Gero Hot Springs Bath ช่วยต่อต้านแบคทีเรีย ลดอาการคัน 2.บ่อซิลค์บาธ -Silk Bath ช่วยเติมออกซิเจนให้ผิวช่วยให้ผิวชุ่มชื้น 3.บ่อโซดา -Soda Bath ช่วยขับสารพิษ ความอุ่นของน้ำจะช่วยส่งเสริมการ หมุนเวียนของเลือดให้ดียิ่งขึ้น 4.บ่อน้ำวนWhirlpool Bath จะมีกระแสจากแรงดันน้ำช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายทำให้ร่างกายหายปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดีและ 5.บ่อน้ำเย็น (Cold Bath) ช่วยกระชับรูขุมขนตามร่างกาย ช่วยเพิ่มความสดชื่น กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ผิวพรรณ ดูสดใสชุ่มชื้นอีกด้วย
รวมทั้งมีอีกหนึ่งบริการเสริมมาอย่างเช่น Akasuri Scrub อีกไฮไลท์ที่จะมีเทอราปิสต์ให้บริการสครับร่างกายแก่ผู้ที่เข้าใช้บริการให้มีผิวพรรณที่ดีขึ้นอีกด้วย
พร้อมทั้งมีห้องอำนวยความสะดวกสบายที่ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศของการพักผ่อน ได้แก่ ห้องเย็นมัลติมีเดีย(Interactive Cold Room) ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ใช้งาน ห้องหินร้อน (Hot Stonebed Bath) ประกอบด้วย ไม้ฮิโนกิ (Hinoki) หินภูเขาไฟ เสาเกลือหิมาลายัน ในการผ่อนคลายและได้รับประโยชน์จากแร่ธาตุถึง 48 ชนิด
ปิดท้ายเป็นพื้นที่ออนเซน ได้แก่ ห้องพักผ่อน สำหรับนั่งพักผ่อนและอิ่มเอมกับกลิ่นจากธรรมชาติอย่างเสื่อตาตามิตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิม
นายณรัลกล่าวว่า “ไฮไลต์เมนูสปา” ที่จะช่วยเติมเต็มให้คนที่อยากไปเที่ยวญี่ปุ่นได้สัมผัสกลิ่นอายญี่ปุ่นในไทยที่ออนเซนสปาแห่งใหม่ ซึ่งมีการแช่หินร้อนช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อแต่ละชั้นสบายตัวสดชื่นมากขึ้น ส่วน “สนนราคา” แบรนด์ Let’s Ralax คุ้มค่าเงินที่จ่ายเฉลี่ย 700 -1,200 บาท/ชั่วโมง ส่วนออนเซนเฉลี่ย 750 บาท/ชั่วโมง แบรนด์ระรินจินดา เริ่มต้น 1,000-7,000 บาท ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ยาวไปถึง 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของแต่ละคนมากน้อยขนาดไหน
ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและพันธมิตร ปัจจุบันภาครัฐได้เน้นเป้าหมาย “ตลาดคุณภาพ” อยู่แล้วขณะที่ “สปาไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปลายปี 2562 ต่อจากโขน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง บาหลี (อินโดนีเซีย) เวียดนาม สปาไทยมีเอกลักษณ์ต่างกันประเทศอื่น ๆ จึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่อง Soft Power ช่วยต่อยอดการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในอนาคตต่อไป

โดยภาพรวมยังคงมี “ปัจจัยภายนอก” ทำให้ธุรกิจได้อานิสงจากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้เงินสกุลต่างชาติอย่างดอลลาร์แลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 36-37 บาท/ดอลลาร์ มากกว่าก่อนได้ 31-32 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยนี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมาไทยเพิ่มขึ้น
ดังนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท.สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมท่องเที่ยวแถวหน้าของประเทศ น่าจะร่วมมือกันทำให้ไทยเป็น Top of Mind ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเลือกมาเที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับต้น ๆ พร้อมทั้งร่วมผลักดันบริการสปาและสุขภาพองค์กรซึ่งเป็นสินค้าเหมาะกับคุณภาพสูงนำรายได้เข้าประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกครั้ง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen