บพท.กอดคอ ม.พะเยา ปั้นนักวิจัยพื้นที่ภายใน 6 เดือนรับ 5 ปีหน้าเร่งปลดล็อกไทยพ้น “ยากจน-ลดศก.เหลื่อมล้ำ-เพิ่มคุณภาพชีวิต”



  • บพท.จับมือ .พะเยา ผุดหลักสูตรแจ้งเกิดนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ภายใน 6 เดือน 
  • โดยระดมผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาแห่เป็นวิทยากร ตั้งเป้าเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ อววน. 5 ปี ระหว่าง 2566 – 2570 
  • ปลดล็อกประเทศก้าวพ้น 3 มิติ “ความยากจน-สร้างเศรษฐกิจลดเหลื่อมล้ำ-เพิ่มคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม”

ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ปรึกษาโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ได้นำ บพท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมบูรณาการกับคณาจารย์ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ หรือ Area Based Collaboration Academy-ABC Academy” ผลักดันโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรดังกล่าวเน้นเสริมสร้างและพัฒนาให้เกิดทักษะมีความสำคัญมากต่อการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีแก่การจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 ทักษะการสร้างกลไกกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งภาควิชาการ ด้านที่ 2 ทักษะการพัฒนาแนวความคิดเพื่อริเริ่มดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ด้านที่ 3 ทักษะการวางแผนกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วยการวิจัยและนวัตกรรม

ดร.กิตติ กล่าวว่า บุคลากรที่ผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรนี้ จะยกระดับเป็น นักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยเป็นกำลังสำคัญในการ “ต่อยอดขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมครบ 3 มิติ คือ มิติแรก ด้านแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ มิติที่ 2 เสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนแก่เศรษฐกิจฐานรากในชุมชน มิติที่ 3 ด้านคุณภาพชีวิต ตลอดจนคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ดร.กิตติ กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะมีนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ที่มีขีดความสามารถออกแบบ พัฒนาโครงการการวิจัย และพัฒนาเชิงพื้นที่ พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ได้ รวมทั้งยังใช้เครื่องมือในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ (ROI) กับผลกระทบทางสังคม (SROI) อย่างถูกต้องและเหมาะสม เชื่อมโยงการดำเนินงานกับระดับนโยบายได้ เป็นการพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนางานวิจัยของประเทศตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ปี 2566 – 2570

ดร.สีลาภรณ์  บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ เล็งเห็นถึงการสร้างนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างสูงเรื่องการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ความรู้และทักษะถักทอกลไกกระบวนการเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่ต่อไป

ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานงานหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ได้จัดทำรายละเอียดโดยจะใช้เวลาศึกษาอบรม และฝึกทักษะภาคปฏิบัติรวมทั้งสิ้น 190 ชั่วโมง ทำหลักสูตรครอบคลุมทักษะความรู้ว่าด้วยเรื่อง 1.แนวความคิดการจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วม  2.ทักษะความรู้ในการพัฒนากลไกกระบวนการการมีส่วนร่วม  3.ทักษะความรู้ในการพัฒนาแผนงานริเริ่มที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ 4.ทักษะความรู้ว่าด้วยการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ส่วนการศึกษาอบรมหลักสูตรนี้ จะมีเฉพาะวันเสาร์ต่อเนื่องกันไป 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน ที่ได้จัดทีมมีผู้ทรงคุณวุฒิหมุนเวียนกันมาเป็นวิทยากร เช่น .(กิตติคุณนพ.สิทธิพร จิตต์มิตรภาพ .นพ.วิจารณ์ พานิช .ดร.ปิยะวัติบุญหลง  .ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย รศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์  ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์   ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย  คุณสมพร ใช้บางยาง คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ คุณบัญญัติ คำบุญเหลือ และดร.กิตติ สัจจาวัฒนา

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen