นโยบายด้านสาธารณสุขพรรคภูมิใจไทย

เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งฟรีทุกจังหวัดศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ

โรคมะเร็ง และ โรคไต เป็นโรคที่เป็นปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขไทย และใช้งบประมาณในการรักษาปีละหลายหมื่นล้านบาท

คนไทย เป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นวันละเกือบ 400 คน หรือ ประมาณ 150,000 คนต่อปี และ เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน หรือ มากกว่า 80,000 คนต่อปี จำนวนมากเป็นการสูญเสีย ที่ไม่ควรจะสูญเสีย

การสูญเสีย เกิดจากการเข้าไม่ถึงการรักษาอย่างทันเวลา เพราะต้องรอคิวการรักษา เป็นเวลานาน เนื่องจากเครื่องฉายรังสี มีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย และ โรงพยาบาลที่มีเครื่องฉายรังสี อยู่ห่างไกล การเดินทางมีปัญหากับผู้ป่วย และครอบครัวที่ต้องมาดูแลผู้ป่วย รวมทั้งมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไกล อีกด้วย

แนวทางแก้ไข จะติดตั้งเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 เครื่อง เป็นอย่างน้อย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 22 จังหวัด ต้องมีให้ครบทุกจังหวัด ภายใน 4 ปี และต้องรักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว มีโอกาสหายจากอาการป่วยได้มากที่สุด และ ครอบครัวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าที่พัก เมื่อต้องติดตามไปดูแลผู้ป่วยหากต้องไปรักษาในโรงพยาบาลที่ห่างไกลบ้าน

ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ 

รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไต ของไทยเมื่อปี 2565 พบว่า คนไทย ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาจำนวน 11.6 ล้านคน ทุกๆ ปี จะมีผู้ป่วยโรคไต เพิ่มขึ้นมากกว่า 8,000 คน ติดอันดับ 1ใน 5 ของประเทศที่มีผู้ป่วยโรคไต เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก

ปัจจุบัน มีคนไทย มากกว่า 200,000 เป็นผู้ป่วยที่ต้องล้างไต หรือ ฟอกไต หรือ ฟอกเลือด และ รอการเปลี่ยนไต เพื่อจะกลับมามีชีวิตใกล้เคียงปกติ แต่จำนวนเครื่องฟอกไต ยังมีไม่เพียงพอ และ กระจุกอยู่ในจังหวัด ลงไปถึงระดับอำเภอ ไม่มากนัก

พรรคภูมิใจไทย จึงเสนอนโยบาย จัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4 ปีเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตทุกคน เข้าถึงการรักษาได้เร็ว และ ทั่วถึง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว

นโยบายเพิ่มค่าตอบแทนอสม. เป็นเดือนละ 2,000 บาทเจ็บป่วยมีประกัน

อสม.ทำให้รากฐานระบบการสาธารณสุข มีความแข็งแกร่งขึ้น อสม.เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ถือว่า เป็นกลไกสำคัญที่ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุข บริหารจัดการ ควบคุม สถานการณ์โรคระบาด เป็นกลุ่มมวลชน ที่อาสามาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินนโยบาย 3 หมอ ประชาชนคนไทย 1 คน มีหมอประจำตัว 3 คน และหมอคนแรกคือ อสม.

อสม. เป็นหมอคนที่ 1 และต้องให้ความรู้ ความเข้าใจชาวบ้านในการใส่ใจสุขภาพ ให้เกิดแก่เจ็บตายอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการดูแลจากระบบการสาธารณสุข

การคัดกรองสุขภาพ เก็บข้อมูล ผู้สูงอายุ ติดตาม ประสานงาน เยี่ยมบ้าน เคาะประตู ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ที่ติดเตียงอยู่บ้าน เฝ้าระวัง สอดส่องดูแลเรื่องยาเสพติดในชุมชนหมู่บ้าน ประสานงาน แจ้งความเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นับเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย

อสม.มีภารกิจ ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน อาสาไปรับยา เวชภัณฑ์ แล้วนำไปส่งมอบให้ผู้ป่วย เพื่อลดความแออัด ลดเวลานั่งรอยาของผู้ป่วย ญาติที่โรงพยาบาล ใช้เทเลเมดิซีน เทเลเฮลท์ กับหมอพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น ปฐมพยาบาล ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยจากบ้านไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม

รัฐได้ตอบแทนความเสียสละของ อสม. มีหมอคอยดูแลประชาชน ในชุมชนหมู่บ้าน เงินตอบแทน 2,000 บาท ต่อเดือน ทำให้ อสม.สามารถจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน มีเงินไว้สำหรับสะสมเข้ากองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์ ซึ่งทำให้ทายาท อสม.ที่เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนนี้ถึงเกือบ 500,000 บาทต่อราย

////////////////////