“นายจ้าง”แนะรัฐอนุญาต”ลูกจ้าง”นำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชราภาพ มาใช้ก่อนแล้วค่อยผ่อนคืนทีหลัง

  • สภาพัฒน์”เปิดผลสำรวจปัญหาและความต้องการภาคธุรกิจ
  • ชี้มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลอาจไม่เพียงพอ
  • หากสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานกว่า 3 เดือน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้จัดทำผลสำรวจปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9-13 เม.ย.2563 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 8,929 คน จาก 77 จังหวัด แบ่งออกเป็น พนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน 4,140 คน หรือ 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ 2,515 คน หรือ 28% นายจ้าง 1,700 คน หรือ 19% เป็นผู้ว่างงาน 423 คนหรือ 5% และเป็นผู้เกษียณอายุ 151 คนหรือ 2%

สำหรับภาพรวมของผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ตอบว่า ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และมาตรการการช่วยเหลืออาจไม่เพียงพอหากสถานการณ์ยาวนานกว่า 3 เดือน โดยจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด พบว่ามีเพียง 1,035 คนหรือ 12 %ที่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนอีก 7,894 คนหรือ 88 %ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 5,407 คน หรือ 67% รู้ว่ารัฐบาลมีการช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ และ 1,718 คนหรือ 22 % ไม่รู้ว่ารัฐมีมาตรการอะไรและต้องทำอย่างไร และ 279 คนหรือ 4% อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะในภาพรวม ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ให้รัฐบาลเพิ่มการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ โดยขยายให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ตามลักษณะความต้องการที่เหมาะสม ไม่กำหนดมาตรการเดียวเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ให้ลดเงื่อนไขการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือโดยกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงการช่วยเหลือที่ชัดเจนเหมาะสมเสมอภาค และเพิ่มช่องทางการประสานงานช่วยเหลือประชาชนด้านธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจัดหางานให้กับประชาชนที่ถูกเลิกจ้างด่วนที่สุด และให้ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นเพื่อนำงบประมาณมาใช้ ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนข้อเสนอลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการและประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและพักหนี้ ให้ยกเงื่อนไขที่ซับซ้อนยุ่งยากและมีมาตรฐานเดียวกันทุกสถาบันการเงิน ขอให้คืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสัดส่วนขนาดธุรกิจ คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม งดเว้นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นและเพิ่มการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตลอดจนขอให้ผ่อนปรนธุรกิจบางประเภทให้เปิดทำการได้โดยมีเงื่อนไข เช่นให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้านโดยยึดหลักเกณฑ์ระเบียบตามมาตรการด้านสาธารณสุข

“ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนายจ้าง ระบุว่ามาตรการด้านการเงินที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการพยุงธุรกิจหรือแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงวิกฤติ 3 ถึง 6 เดือนและต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการเตรียมเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูกิจการด้วย และนายจ้างส่วนใหญ่ 89% ระบุว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไข ส่วนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็เห็นว่ามาตรการของรัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระยะไม่เกิน 3 เดือน และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมมาใช้ล่วงหน้าได้ โดยกำหนดระยะเวลาชำระคืน 9-12 เดือนแบบปลอดดอกเบี้ย”

ด้านพนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน ส่วนใหญ่ ได้รับความช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายและมาตรการด้านการคลัง แต่ยังต้องการความช่วยเหลือด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายลดหนี้สิน และการเสริมสภาพคล่องด้านการเงินเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองให้รอดพ้นจากช่วงวิกฤตอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ระบุว่าส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอนและไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเนื่องจากติดเงื่อนไข และขอให้เร่งการช่วยเหลือครอบคลุมไปถึงกลุ่ม อาชีพกรรมกร ก่อสร้าง ผู้ยากไร้และรากหญ้า ขอให้ควบคุมสินค้าและบริการ ให้มีการแจกคูปอง โดยนำบัตรประชาชนมายื่น 1 บัตรต่อ 1 สิทธิ์ ให้เบิกเงินสะสมที่เก็บไว้ยามเกษียณมาใช้เป็นบางส่วน เช่น เงินสมทบผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิต เงินชราภาพ และเปิดให้บริการทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น