นายกฯ ปลื้ม! ไทยครองที่ 1 ส่งออกผลไม้ไปจีน เล็งเจาะตลาดรายมณฑล

นายกฯ พอใจไทยครองอันดับ 1 ส่งออกผลไม้ไปจีน ยึดส่วนแบ่งตลาด 41.3% รัฐบาลเตรียมแผนกระจายสินค้าไปยังตลาดจีนเป็นรายมณฑล

  • แนะผู้ประกอบการคงคุณภาพ
  • มาตรฐานของผลไม้
  • ขยายตลาดลงสู่ระดับมณฑลของจีนให้มากขึ้น

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้อันดับ 1 ของจีน และมีส่วนแบ่งตลาดผลไม้จีนร้อยละ 41.3 สะท้อนศักยภาพสินค้าไทย พร้อมแนะผู้ประกอบการคงคุณภาพ มาตรฐานของผลไม้ เตรียมความพร้อมเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนในรายมณฑล รวมถึงตลาดอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม

ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกผลไม้ไปยังจีน โดยในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้ของจีนถึงร้อยละ 41.3 ซึ่งปัจจุบันสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากไทยกว่า 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ สับปะรด กล้วย มะพร้าว ขนุน ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่ โดยผลไม้สดที่ไทยครองตลาดสำคัญในจีน ได้แก่ ทุเรียน ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 95.3 ลำไย ร้อยละ 99.3 มังคุด ร้อยละ 86.8 มะพร้าว ร้อยละ 69.2 น้อยหน่า ร้อยละ 100 ชมพู่ ร้อยละ 100 และเงาะ ร้อยละ 82.4

ด้วยนโยบายการทำงานเชิงรุกของรัฐบาล จุดเด่นทางด้านคุณภาพและรสชาติของผลไม้ไทย ทำให้ผลไม้ไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาด และเป็นที่ต้องการในต่างประเทศอย่างมาก ถือเป็นโอกาสสำคัญของเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยในการพัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิต การจัดการเพื่อการส่งออกผลไม้ไทย รวมถึงรัฐบาลผลักดันนโยบายการกระจายตลาด ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดเดียว โดยกระจายตลาดส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อ และขยายตลาดลงสู่ระดับมณฑลของจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผลไม้ไทยเข้าสู่ตัวเมืองชั้นในของจีนมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้รักษาคุณภาพ มาตรฐานด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพของผลไม้ โดยสั่งการอย่างต่อเนื่องให้ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเพื่อหาช่องทางการส่งออกที่มีศักยภาพเพิ่มเติม ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มมูลค่าทางการค้า”