“นายกฯ”เรียกถกศบศ.ในรอบ2เดือน จับตาธปท.เสนออกมาตรการทางการเงินช่วยเหลือภาคธุรกิจ



รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วันนี้ 30ก.ย.2564 เวลา 9.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 4 ของปีนี้ โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

โดยวาระสำคัญในการพิจารณาคือการรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะรายงานโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

กระทรวงแรงงานจะนำเสนอมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเป็นรูปแบบการช่วยเหลือค่าจ้างแรงงานให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือมาตรการ Co-pay

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะนำเสนอที่ประชุม ศบศ.ในการออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูภาคธุรกิจเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น

แหล่างข่าวกล่าวด้วยว่าการประชุม ศบศ.ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 2 เดือน เนื่องจากที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญไปที่หยุดการแพร่ระบาดให้ได้ก่อน โดยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงจึงได้มีการประชุมเพื่อหามาตรการในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่ได้มีการหารือมาก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ซึ่งเป็นการวางกรอบการใช้เงินกู้ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564  หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจมีวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

หลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก. เพิ่มเติม มี 3 หลักเกณฑ์ คือ

1.รักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะรักษาระดับการจ้างงานได้ 3.9 แสนราย

2.เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ประเทศมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา

3.กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการตลาด และรักษาอุปสงค์ให้กับภาคธุรกิจ