ธ.ก.ส.เยี่ยมลูกค้าชายแดนใต้​ ชมวิธีคัดทุเรียนคุณภาพ

ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ลงพื้นที่ให้กำลังใจพนักงานและเยี่ยมชมงานลูกค้าชายแดนใต้​ ทั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ​  ล้งคัดทุเรียนเพื่อการส่งออก

  • ให้กำลังใจพนักงาน
  • เยี่ยมชมงานลูกค้าชายแดนใต้​
  • ​ล้งคัดทุเรียนเพื่อการส่งออก


นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมงานและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของพนักงาน ธ.ก.ส. สาขายะลา จังหวัดยะลา พร้อมพบปะพูดคุยกับลูกค้าที่มาใช้บริการ เพื่อสอบถามข้อมูลและรับข้อเสนอแนะในการให้บริการ

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านบูเก๊ะจือฆา ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อแม่พันธุ์และโคขุนที่มีการดำเนินงานแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น มีการผลิตเนื้อโคขุนและแปรรูปเนื้อโคขุนเป็นอาหารพร้อมทาน ได้แก่ เนื้อย่าง สเต๊กและเบอร์เกอร์เนื้อ จำหน่ายผ่าน Food Truck ภายใต้ชื่อแบรนด์ Chaba Beef ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต นอกจากนี้ ยังมีการปลูก-แปรรูปหญ้าเป็นอาหารสัตว์ และผลิตปุ๋ยหมักมูลโคใช้เอง เพื่อลดต้นทุนในการผลิต

รวมถึงมีการจ้างแรงงานในชุมชน ทำให้สมาชิกในชุมชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 หรือล้านละร้อย เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและสร้างโอกาสในการขยายงานและการเติบโตธุรกิจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่ ให้การต้อนรับ

นอกจากนี้ยังเดินทางไปเยี่ยมกลุ่​มวสช.พัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาดูปูเต๊ะ​ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่พัฒนาสายพันธุ์​ทุเรียนและผลผลิตที่มีคุณภาพจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้

ซึ่งมีการบริหารจัดการการผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การผลิต การดูแลรักษา การรวบรวม ไปจนถึงการจัดการทางการตลาด เพื่อแก้ปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลางและยกระดับมาตรฐานผลผลิตในการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ โดยมีการจ้างแรงงานในพื้นที่ในการคัดผลผลิตและบริหารจัดการสวน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน

ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 20 กลุ่มและสมาชิกกว่า 400 ราย ในโอกาสนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้มอบสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 ให้กับกลุ่มฯ จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อต่อยอดและยกระดับธุรกิจ ทั้งการผลิต การควบคุมมาตรฐาน โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมงานบริษัท เอ เอ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิตยางแท่งและยางคอมปาวด์ เพื่อส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย โดยนำไปแปรรูปและใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ยางล้อ, ยางที่ใช้ในห้องโดยสารรถยนต์ และยางที่ใช้เป็นอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งทางบริษัทฯ มีการรับซื้อยางจากเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด

ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อ SME เกษตร และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อสนับสนุนการเติบโตธุรกิจยางพาราไปสู่ตลาดต่างประเทศ