ธ.ก.ส.ผนึกคูโบต้า-ยันม่าร์ ปล่อยกู้ซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ วงเงิน 15,000 ล้านบาท



  • เปิดทางให้นำเครื่องจักรเก่ามารีไฟแนนซ์
  • คาดภาคอีสานขอกู้ซื้อเครื่องเก็บเกี่ยวผลผลิตมาก
  • นำไปรับจ้างหารายได้ต่ออีกทางหนึ่ง

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  ธ.ก.ส. ได้ทำลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในโครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์  ร่วมกับบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด และบริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด – บริษัท ยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการ มีโอกาสซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ใหม่ ใช้ทดแทนแรงงานคน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตร รวมทั้งยังสามารถกู้เพื่อเป็นค่าบำรุงซ่อมแซมเครื่องยนต์  หรือนำเครื่องจักรเครื่องยนต์เก่ามารีไฟแนนซ์กับธ.ก.ส.ได้อีกด้วย 

สำหรับสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดี (MRR) – 1 จากปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875% ต่อปี ซึ่งมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2566 อย่างไรก็ตามธ.ก.ส.คาดว่า จะมีเกษตรกรขอสินเชื่อหมดภายใน 2 ปี หรือปี 2564 เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ออกสินเชื่อจัดหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตรเพื่อซื้อเครื่องจักรกล หรือเพิ่มนวัตกรรม  วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 70,000 ล้านบาท  ซึ่งเกษตรกรสนใจขอสินเชื่อจำนวนมาก และมีการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรแล้วกว่า 60% หรือประมาณ  350,000 ราย

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนภายใต้โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่สนใจการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 5 ราย เข้ามาขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรได้ ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สินเชื่อจะเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

“ธ.ก.ส.คาดว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีการขอสินเชื่อมากที่สุด เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวและอ้อยจำนวนมาก และรถเกี่ยวข้าวรวมถึงรถเก็บเกี่ยวผลผลิตมีราคาแพง เริ่มตั้งแต่ราคาหลักแสนถึงหลักล้าน จึงคาดว่าเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน น่าจะรวมตัวมาขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถเกี่ยวข้าวและรถตัดอ้้อย เพราะนอกจากใช้เก็บเกี่ยวผลผลิตของตนเองแล้ว ยังสามารถนำไปรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ได้อีกด้วย” 

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากที่ธ.ก.ส. และสยามคูโบต้า เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้ง่ายขึ้น โดยปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสมกับรายได้ของเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต 

ด้านนายชินจิ สุเอนางะ ประธานบริหารบริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด กล่าวว่ายันม่าร์เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรได้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น และมั่นใจว่าการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต