ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมาแรงคนแห่ตั้งบริษัทใหม่



  • 7 เดือนแรกปีนี้เปิดแล้ว 794 รายทุน 1 พันล้านบาท
  • ต่างด้าวแห่ลงทุนในไทย 7 เดือนทะลุ 1.9 หมื่นล้าน
  • โควิดทำชีวิตเปลี่ยนคนลดออกจากบ้านซื้อของออนไลน์

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจในเดือนก.ค.64 พบว่า ธุรกิจขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต (ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ) เป็นธุรกิจดาวเด่นประจำเดือน โดยมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 112 ราย เพิ่มขึ้น 5.66% จากเดือนมิ.ย.64 ที่จัดตั้งใหม่ 106 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 115.60 ล้านบาท ส่วนในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 64 จัดตั้งใหม่ 794 ราย มูลค่าทุน 1,044.90 ล้านบาท โดยจำนวนเพิ่มขึ้น 41.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนเกือบเท่ากับปี 63 ทั้งปีที่มี 798 ราย ส่งผลให้ปัจจุบัน มีธุรกิจนี้ดำเนินกิจการ 3,525 ราย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่น่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสร้างรายได้ในประเทศสูงถึงหลักแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 63 ธุรกิจนี้มีรายได้รวม 111,670.15 ล้านบาท  

“เป็นผลมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะใช้บริการได้แบบใกล้ตัวผ่านโทรศัพท์มือถือชำระค่าบริการสินค้าได้ทันทีผ่าน Mobile Banking และการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว ที่สำคัญ โควิด-19 ยังเป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่ให้ผู้บริโภคลดการเดินทางออกจากบ้าน จึงต้องซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เป็นหลัก ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับผลดี แต่ฝากให้ผู้ประกอบธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการจัดส่งสินค้า เพราะโควิดในแต่ละพื้นที่ หรือการติดเชื้อจากพนักงานขนส่ง อาจทำให้การจัดส่งสินค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงกับผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมองหาผู้ให้บริการขนส่งมืออาชีพสำรองไว้หลายแห่ง เพื่อรองรับอุปสรรคดังกล่าว”

นอกจากนี้ ยังมีทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้ในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน สะท้อนถึงศักยภาพและความน่าสนใจของตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทย โดยในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ต่างชาติลงทุนในธุรกิจดังกล่าวแล้ว 19,023.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 63 ที่มีมูลค่าทุน 18,541.10 ล้านบาท โดยสิงคโปร์ครองแชมป์ด้วยมูลค่า 16,045.30 ล้านบาท คิดเป็น 54.18% ของมูลค่าลงทุนในประเภทธุรกิจนี้ ตามด้วย ฮ่องกง 2,224.56 ล้านบาท คิดเป็น 7.51%, จีน 321.80 ล้านบาท คิดเป็น 1.09% ฯลฯ