ธพส.โชว์ DEPOT อาคารจอดรถนวัตกรรม ย้ำศูนย์ราชการฯ “เมืองสีเขียว”

ธพส. มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อสร้างเมือง “สีเขียว”ขนาดใหญ่ นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

  • เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ
  • เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
  • ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development กล่าวว่า ธพส. มีความตั้งใจสร้างโครงการอาคารจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง DEPOT เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบริการที่จะมอบให้กับผู้เช่าและผู้มาติดต่อศูนย์ราชการฯ แห่งนี้ ตลอดจนประชาชนทั่วไป  โดยอาคารจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง DEPOT เป็นอาคารสูง 11 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 84,000 ตารางเมตร ออกแบบภายใต้แนวคิด Sustainable Water Management ที่นำเอาน้ำทั้งหมดมาบริหารจัดการ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำ สะท้อนความตั้งใจของการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยรางวัล Best Landscape Architectural Design จากการประกาศผลในงาน PropertyGuru Asia Property Awards 2021  จากก่อนหน้านี้เคยคว้ารางวัลระดับประเทศ จากการประกวด PropertyGuru Thailand Property Awards 2021 มาแล้วอีกด้วย

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)

โดยภายในอาคารติดตั้งพัดลมระบายอากาศขนาดใหญ่สามารถส่งแรงลมได้ไกลมากกว่า 30 เมตร ทำงานร่วมกับระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณความร้อนและค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะหากเกินปริมาณที่กำหนดพัดลมระบายอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนและเติมอากาศบริสุทธิ์ได้ในเวลาเดียวกัน ในส่วนแสงสว่างภายในอาคารที่ติดเพื่อดูแลความปลอดภัย ก็ได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะอาคารหลังนี้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 324 แผง ผลิตไฟฟ้าได้ 74,163.60 กิโลวัตต์ต่อเดือน  นอกจากนั้นยังเพิ่มความสะดวกสบายด้วยทางเดินสกายวอล์คเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มายังอาคารจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (DEPOT)

ดร. นาฬิกอติภัค กล่าวว่า  ส่วนของการออกแบบและการตกแต่ง ธพส. ได้ยกระดับมาตรฐาน เสริมด้วยแนวคิดสร้างสรรค์  เพื่อให้เป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดคุณประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งาน บริเวณด้านหน้า ด้านบน และโดยรอบของอาคาร ออกแบบให้โดยรอบอาคารมีพื้นที่สีเขียว ส่วนภายในอาคาร ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ามาจอดรถ ได้แก่ จุดหัวชาร์จรถ EV รองรับได้จำนวน 30 คัน  และจัดรถ EV Shuttle Bus  คอยบริการ รับ – ส่ง อยู่ด้านล่างของอาคาร โดยวิ่งเชื่อมต่อการเดินทางให้แก่ผู้มาติดต่อหน่วยงานในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ และผู้ใช้บริการต่างๆ ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.30 – 19.00 น. ของทุกวันจันทร์ – ศุกร์ แบ่งเป็น 3 สาย ได้แก่ สายที่ 1 สถานีอาคาร A – สถานีอาคาร B  สายที่ 2 สถานีหน้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 – สถานีอาคาร C (อาคารด้านทิศเหนือ) และสายที่ 3 สถานีอาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (DEPOT) – สถานี จุดเชื่อมต่ออาคาร B และอาคาร C  

อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญของการออกแบบอาคารหลังนี้ คือเน้นที่ประโยชน์ของการใช้สอยตามมาตรฐานระดับสากล และสามารถรองรับผู้คนได้ทุกสภาพร่างกาย เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ โดยมีอีกหนึ่งไฮไลท์ สำคัญคือ พัฒนาพื้นที่ด้านบนของอาคารตกแต่งเป็นสวนลอยฟ้าเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน  ส่วนการออกแบบและจัดวางตำแหน่งอาคาร ที่สร้างโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบสาธารณูปโภค เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จึงนับเป็นตัวอย่างเมืองต้นแบบการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่ตอบทุกโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง โดยพร้อมเปิดให้บริการในปี 2567 นี้