ธพว.ช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอี พักหนี้เงินต้นต่อ 6 เดือนถึงเม.ย.64!



  • คาดลูกหนี้ผิดนัดชำระพุ่งถึง 10,000 ล้านบาท
  • ดันหนี้เสียไตรมาส 4 พุ่ง 20% หรืออยู่ที่ 20,000 ล้านบาท
  • เดินหน้าโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” ช่วยเอสเอ็มอีฟื้นธุรกิจ

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้าทุกรายเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ต.ค.2563 นี้ มีลูกค้าธนาคารเข้าเกณฑ์มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ จำนวน 43,215 ราย มูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท

ทั้งนี้หลังครบมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 6 เดือน ในวันที่ 22 ต.ค.2563 นี้ ธนาคารจะให้สิทธิลูกค้าที่มีสถานะชำระปกติ ณ วันที่ 31 ก.ค.2563 สามารถขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นเพิ่มเติม โดยคงเหลือชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้อีก 6 เดือน ถึงเม.ย.64 สำหรับภาระหนี้ที่พักชำระไว้ โดยธนาคารจะนำยอดดังกล่าว ไปรวมให้ชำระในช่วงท้ายของสัญญา และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ ซึ่งไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต

สำหรับลูกค้าที่ต้องการพักชำระหนี้เงินต้นเพิ่มเติมอีก 6 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านการสแกน คิวอาร์โค้ด (QR Code) ในใบแจ้งหนี้ที่ทางธนาคารจะส่งไปให้ โดยเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารทั่วประเทศ

“ตั้งแต่ต้นเดือนก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าเยี่ยมลูกค้า เพื่อแนะนำแนวทางช่วยเหลือขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นเพิ่มอีก 6 เดือน ซึ่ง ณ วันที่ 5 ต.ค.63 สอบถามลูกค้าไปแล้วกว่า 66% ของผู้เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด โดยมีลูกค้าแจ้งความประสงค์ขอพักชำระเงินต้นเพิ่มเติม จำนวน 4,576 ราย วงเงิน 7,207 ล้านบาท ซึ่งก่อนจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 22 ต.ค. นี้ จะเร่งสอบถามความต้องการลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ได้ครบถ้วนทุกรายแน่นอน” 

ขณะที่ลูกค้าที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM)นั้น คาดว่าปีนี้จะมีถึงจำนวน 10,000ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 5,000ล้านบาท  อย่างไรก็ตามลูกหนี้ส่วนนี้จะตกชั้นสู่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกหนี้ตกมาชั้นหนี้เสีย คือ มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ การหยุดกิจการ และไม่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากโควิด-19 กระทบ โดยคาดว่าสิ้นไตรมาส 4 ปีนี้เอ็นพีแอลจะอยู่ที่ไม่เกิน 19,000- 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20%ของสินเชื่อรวมซึ่งใกล้เคียงกับที่แล้ว จากปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 16,000-17,000 ล้านบาท

“สำหรับปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายจะมีผลประกอบการดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ติดลบไปกว่า 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้  40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วปล่อยสินเชื่อได้  38,000 ล้านบาท ” 

นอกจากนี้จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก และยังกระทบความสามารถการชำระหนี้ ดังนั้น ธพว. จึงร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ดำเนินโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ”เพื่อดึงเอสเอ็มอีที่อ่อนแอ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เพื่อให้สามารถกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้อีกครั้ง รวมถึงรักษาสถานะทางการเงินของธนาคารด้วย