“ทีดีอาร์ไอ”ชี้สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ย-ถอนคิวอี สะเทือนศก.โลก กระทบส่งออก-ลงทุนในไทย



  • แนะรัฐบริหารเงินเฟ้อให้ดี
  • หวั่นค่าครองชีพเพิ่ม
  • หนี้ครัวเรือนสูง

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงทิศทางของเศรษฐกิจในปี 2565 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับลดวงเงินอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ว่าทิศทางนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในส่วนของภาคส่งออก และการลงทุน

ทั้งนี้การตัดสินใจของเฟดทั้งสองเรื่องคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการลดคิวอีถือเป็นการถอนคันแร่งออกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯซึ่งเกิดขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยการตัดสินใจของเฟดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก กล่าวคือหากถอนคันเร่งจากเศรษฐกิจช้าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่วนอีกส่วนคือถ้าตัดสินใจถอนคันเร่งจากเศรษฐกิจเร็ว เศรษฐกิจโลกก็จะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้จากการประชุมฯครั้งล่าสุดเฟดส่งสัญญาณจะถอนคันเร่งออกจากระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น หมายถึงการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและดึงสภาพคล่องออกจากระบบเร็วขึ้นเช่นกัน

“การถอนคันเร่งออกจากเศรษฐกิจเร็ว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมาก โดยเงินจะไหลเข้าสหรัฐฯเพื่อไปแสวงหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจโลกก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตช้าลง การส่งออกและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆจะได้รับผลกระทบเนื่องจากเงินไหลเข้าไปลงทุนหาผลตอบแทนในพันธบัตรสหรัฐฯ”

นายนณริฏ กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยไทยจากนโยบายของเฟดก็คือจะกระทบกับภาคการส่งออกและภาคการลงทุนโดยเมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตน้อยลงภาคการส่งออกสินค้าก็จะได้รับผลกระทบ ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันในสถานการณ์ที่เงินทุนไหลออกไปยังประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ดีก็จะเกิดปัญหาเงินทุนไหลออกเร็วขึ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

ส่วนประเทศที่ไม่เกิดวิกฤติก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ยสูง ภาวะดอกเบี้ยที่เริ่มขยับสูงก็จะทำให้เกิดการชะลอการลงทุน เนื่องจากการลงทุนใหม่มีต้นทุนสูงมากขึ้นเศรษฐกิจจึงชะลอตัว

“การถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจของสหรัฯจะส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงไปด้วย ทั้งภาคการส่งออก และภาคการลงทุนผลต่อตลาดหุ้นน่าจะทำให้หุ้นลดลง ฐานะคนไทยที่ถือหุ้นก็จะแย่ลงด้วยครับ”

เขากล่าวด้วยว่าในปัจจุบันปัญหาเรื่องเงินเฟ้อถือว่ามีความน่ากังวลมากขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เห็นได้จากสินค้าหลายรายการที่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งภาครัฐจะต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 มากนัก ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนนั้นสูงมากอยู่แล้ว หากเจอกับภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะลามเป็นปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้