ทอท.ลุยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสนามบินหวังโกยรายได้เข้าเป๋า

ทอท.เดินหน้าศึกษาพื้นที่เชิงพาณิชย์ “สุวรรณภูมิ” เตรียมพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ ใกล้อาคารผู้โดยสาร สร้างจุดเช็คอินก่อนเดินทาง คาดแล้วเสร็จภายในปีนี้ หวังดันเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน 50% 

พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า การสร้างรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน (Non – Aero) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อทำให้ ทอท.เป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ตนได้มีนโยบายให้ศึกษาการใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานต่างๆ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่ามีพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จำนวนมาก อาทิ ที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ และที่ดินแปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่

อย่างไรก็ดี ตนได้มอบหมายให้ ทอท.ดำเนินการศึกษาที่ดินแปลงที่ใกล้กับอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้นำมาพัฒนาเป็นส่วนเร่งด่วน เพราะนับเป็นที่ดินแปลงศักยภาพ สามารถต่อยอดไปสู่การบริการผู้โดยสารได้ ซึ่งเบื้องต้นมีแนวคิดจะพัฒนาที่ดินแปลงใกล้อาคารผู้โดยสารนี้ให้เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ OUTLET หรือ ศูนย์การค้า เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร สร้างกิจกรรมต่างๆ ระหว่างรอเดินทาง 

“ตอนนี้กำลังเร่งให้ศึกษาแปลงที่ดินใกล้อาคารผู้โดยสารมากที่สุด ต้องใช้ประโยชน์นำมาพัฒนาเป็น OUTLET หรือ ศูนย์การค้า ได้หรือไม่เพื่อรองรับผู้โดยสารที่ออกจากโรงแรมตั้งแต่เที่ยง มาพักคอย มีที่ฝากกระเป๋า หรืออาจจะรับ early check in (เช็คอินก่อนเวลา) รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น นวดเท้า ทานอาหาร หรือ ช็อปปิ้ง ที่สามารถใช้เวลาอยู่ได้ 6-7 ชั่วโมง”

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้ในลักษณะนี้ มีโมเดลในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาก อาทิ สนามบินชางงี สิงคโปร์ ที่มี Jewel Changi Airport หรือ ญี่ปุ่นที่มี OUTLET ไว้ช็อปปิ้ง เนื่องจากผู้โดยสารที่เดินทางมาสนามบินมักจะเผื่อเวลาการเดินทาง และทำให้ต้องมารอพักคอยในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเกิดความแออัด แต่การสร้างคอมมูนิตี้ที่มีบริการด้านต่างๆ รองรับ มีโรงแรมพักคอย และอยู่ใกล้อาคารผู้โดยสาร จะทำให้ลดความแออัดในอาคารผู้โดยสารไปได้ อีกทั้งผู้โดยสารยังใช้เวลาพักคอยไปจับจ่ายใช้สอยเกิดเงินสะพัดด้วย

ทั้งนี้ ตนมองว่าโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจังให้ทันต่อการฟื้นตัวของผู้โดยสาร เบื้องต้นคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2567 และเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 1-2 ปีหลังจากนี้ 

ส่วนรูปแบบการลงทุนและการดำเนินงานนั้นต้องมีความยืดหยุ่น ถูกต้อง และเหมาะสม อะไรก็ตามที่การท่าอากาศยานได้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประโยชน์ ผู้โดยสารมีความสะดวกและคู่ค้ามีความสุขที่มาเป็นผู้ประกอบการ จะทำให้ ทอท.อยู่ได้ และส่วนสำคัญต้องคำนึงลดความแออัดภายในสนามบิน เป็นโมเดลที่ดีที่สุด 

“การทำรายได้เป็นเรื่องสำคัญ แม้กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ แต่เราก็ต้องดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งโครงการลงทุนต่างๆ ของ ทอท.จะเกิดขึ้นด้วยงบประมาณของ ทอท.เอง งบประมาณเราไม่ใช้เงินหลวงเลย แต่ ทอท.ต้องมีความระมัดระวังมาก การลงทุนต้องคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด”

สำหรับรายได้จากธุรกิจนอกเหนือการบิน (Non – Aero) ทอท.มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนให้มากกว่า 50% จากก่อนหน้านี้มีสัดส่วนอยู่ที่กว่า 40% เพื่อทำให้ ทอท.มีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการพึ่งพาเฉพาะรายได้จากธุรกิจการบินที่มีปัจจัยแวดล้อมกระทบ อาทิ การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รายได้ด้านการบินลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ทอท.ว่า ตามแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนหน้านี้ ทอท.ศึกษาพัฒนาบนที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน เสนอโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ โดย ทอท.จะเน้นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจหลักด้านการบิน ซึ่งก่อนหน้านี้มีเอกชนมาเสนอไอเดียพัฒนาโครงการแล้วราว 40 – 50 โครงการ แต่ ทอท.ยังไม่ได้สรุปผลการคัดเลือก

ส่วนโครงการที่ ทอท.เล็งเห็นว่าจะเป็นโอกาสในการพัฒนา เป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจด้านการบิน อาทิ ตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ต่อยอดกับธุรกิจศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ที่ ทอท.ดำเนินการในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) รวมไปถึงโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ โครงการบ้านพักพนักงาน และศูนย์กระจายสินค้าส่งออก โชว์รูมรถซุปเปอร์คาร์ เพื่อทดลองขับและชำระภาษีนำเข้าเบ็ดเสร็จได้ที่นี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทอท.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในที่ดินแปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้นำไปพัฒนาเลนจักรยานแล้วบางส่วน จะเหลือให้เอกชนลงทุนได้ประมาณ 700 ไร่ โดย ทอท.จะพิจารณาธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ดินแปลง 723 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้พื้นที่ด้านการบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ดังนั้นโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ต้องตอบโจทย์เป็นโครงการไม่กระทบด้านการบินและเป็นโครงการที่สนับสนุนธุรกิจการบิน