ทอท.พลิกแผนปี’66 ท่องเที่ยวโตเร็วสนามบินโกลาหล หันพึ่งดิจิทัลไฮเทค-ปรับใหญ่เพิ่มรายได้ Non Aero



  • “ทอท.”พลิกแผนปี’66 คาดสนามบินสู่ “ปีโกลาหล” ตั้งทีม “คอมมานต์ เซ็นเตอร์” แก้ระยะเร่งด่วนทุกปัญหาทุกสนามบิน
  • ระยะยาวลุยลงทุนดิจิทัลรับมือปี’67 ผู้โดยสารพุ่ง 142 ล้านคน
  • พร้อมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่หันพึ่งรายได้ Non Aero 60% เดินหน้าลงทุนเปิดแล้ว 4 บริษัท
  • ทั้งบริษัทบริการภาคพื้น รับรองมาตรฐานคาร์โก้ รปภ. และบริษัทให้บริการชาร์ตแบตรถขนส่งระบบไฟฟ้าในสนามบิน

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “ทอท./AOT” เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2566 เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2565 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายมากเรื่องการวางแผนบริหารจัดการสนามบินนานาชาติ 6 แห่ง และจะต้องรับมอบสนามบินภูมิภาคจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพิ่มอีก 3 แห่ง คืออุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์ ในจังหวะที่การท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว  

โดยภาพรวมปีงบประมาณ 2566 ทอท.ประเมินจะมีผู้โดยสารใช้สนามบินรวมกว่า 92 ล้านคน ประมาณ 2 ใน 3 ของก่อนเกิดโควิดปี 2562 สถิติการเดินทางเข้าออกประเทศก่อนเกิดโควิด-19 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 85-86 % ของทั้งหมด ซึ่งปริมาณ “ผู้โดยสาร” ใช้สนามบิน ทอท.ตามปีงบประมาณ 2565 (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565) มีจำนวน 45.6 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของสถานการณ์ปกติปี 2562 ซึ่งจะกลับเป็นร้อยเปอร์เซนต์อีกครั้งปี 2567 จำนวน 142 ล้านคน สอดคล้องตามพยากรณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA -International Air Trasport Association ) กับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO -Internation Civil Aviation Organization) ระบุไว้ตรงกันปี 2567 จะมีผู้โดยสาร 142 ล้านคน

ดร.นิตินัยกล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ “ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวหรือดีมานต์” จากปี 2565 ก้าวสู่ปี 2566 ปริมาณผู้โดยสารเดินทางผ่านเข้าออกสนามบินจะเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน “ผู้ให้บริการหรือซัพพลาย” ในแต่ละสนามบินทั้ง ผู้ประกอบการสนามบิน พนักงานขนสัมภาระกระเป๋าโดยสาร สายการบิน แท็กซี่บริการสาธารณะ ช่วงที่ผ่านมาเกิดโควิด-19 ต่อเนื่อง 3 ปี ทุกองค์กร “ลดโครงสร้างเล็กลงมาก ”เพื่อความอยู่รอดเพราะไม่รู้โควิดจะจบเมื่อไร เมื่อสถานการณ์ฟื้นตัวเร็วจึง “ขาดความคล่องตัวและความรวดเร็ว” ที่จะรับมือกับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในปริมาณมากภายในเวลาฉับพลัน

ดังนั้นปี 2566 จึงจะเป็น “ปีแห่งความโกลาหลในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบิน” ทาง ทอท.ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลักของประเทศทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม มีความพร้อเพราะช่วงโควิด ทอท.ไม่ได้ลดพนักงาน แต่“องคาพยพ” อีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “การให้บริการในสนามบินแต่ละแห่ง” ได้ลดจำนวนพนักงานไปเรียบร้อยแล้ว จึงเกิดความท้าทายอย่างมากว่าจะสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติหรือไม่

ขณะนี้การใช้สนามบินบางช่วงเวลาจึงได้เห็น การต่อแถวยาวตรงบริเวณ “เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง” หรือต้อง“รอกระเป๋าสัมภาระโดยสาร” นานกว่าปกติทั่วไป แล้วยังมีอีกหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังโควิด

ดร.นิตินัยกล่าวว่า แผนเร่งด่วนระยะสั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้แต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษาการแก้ไขปัญหาสนามบินแออัด” โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทอท. ศุลกากร วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) พร้อมทั้งขีดเส้นให้แก้ไขทุกปัญหาในสนามบินแล้วเสร็จภายใน 15 วัน ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน2565 ได้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการ-Command Center” เรียบร้อยแล้ว เพื่อทำหน้าที่ประสานกับหลายหน่วยงานแก้ไขห่วงโซ่อุปกรณ์ของผู้โดยสารให้เดินหน้าสอดคล้องไปทิศทางเดียวกัน “ระยะกลาง” แนวทางการจัดการความปลอดภัยเครือสนามบิน Airport Corporative Network ควบคู่กันไปด้วย

ส่วนระยะยาว จะต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินเข้ามาใช้ไปพร้อมกัน จึงเร่งลงทุนหันไปพึ่งพาดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทอท.เดินหน้า 3 เรื่อง 1.คาดหวังให้องคาพยพในห่วงโซ่อุปทานฟื้นตัวได้เร็วภายในปี 2566 ซึ่งมีทั้ง ตม.บริษัทให้บริการขนสัมภาระกระเป๋า และอื่น ๆ 2.จะต้องนำเทคโนโลยีในโลกดิจิทัล มาอำนวยความสะดวกสบายบริการผ่านโลกเสมือนจริง เช่น สวัสดีแอพลิเคชั่น หรือการนำเข้าสู่โลกความเป็นจริงที่โลกเสมือนจริงทำไม่ได้คือ 3.ทอท.ได้จัดตั้งบริษัทบริการภาคพื้น บริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศ (cargo) บริษัทรักษาความปลอดภัย เข้าไปช่วยให้เกิดธุรกิจขับเคลื่อนต่อเนื่องตามแผนต่อไป หรือ BCP -Business Continuty Planning

ดร.นิตินัยกล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 ทอท.ได้ “ปรับโครงสร้างแผนเพิ่มรายได้ใหม่ครั้งใหญ่” มุ่งขยายฐาน “รายได้จากธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกับการบิน” หรือ “Non Aero” เพิ่มสัดส่วนให้ได้ถึง 60 % แล้วลดรายได้ตรงจากการบินหรือAero ลงเหลือ 40 % ตั้งเป้าปี 2567 รายได้จาก Non Aero จะขยายตัวเต็มรูปแบบ โดยไม่ได้กระทบสถานะทางการเงินของบริษัท ปัจจุบันสนามบินหลายประเทศก็ทำแบบเดียวกัน

ตอนนี้เริ่มเดินหน้า Non Aero แล้วโดยได้จัดตั้งพร้อมทยอยเปิดบริการแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ทอท.กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด -AOTGA /AOT Ground Services Company Ltd.ให้บริการภาคพื้นในสนามบิน 2.บริษัท เอโอทีโอเปอเรเตอร์ จำกัด-AOTTO /AOT Operator Co.Ltd ให้บริการตรวจคุณภาพสินค้าเกษตรตามมาตรฐานประเทศปลายทาง ที่สนามบินต้นทางก่อนส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลกหรือเรียกว่า Certify Hub หรือการจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม เปิดอี-คอมเมอร์ซผ่านแอพลิเคชั่น และ 3.บริษัท รักษาความปลอดภัย และ 4.บริษัทให้บริการแบตเตอรี่ชาร์จรถขนส่งระบบไฟฟ้าภายในสนามบิน

เปรียบเทียบโครงสร้างรายได้ ทอท.ก่อนโควิด-19 มาจากอุตสาหกรรมการบิน/Aero 57 % กับรายได้ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการบิน/Non Aero 43 % ซึ่งยังมีความเกี่ยวข้องกับการบินอยู่ด้วย แต่อนาคตปรับโครงสร้างธุรกิจปูพรมก้าวสู่การพึ่งพารายได้ไม่เกี่ยวกับการบินเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงได้อย่างแท้จริง เพราะไม่ผันแปรหรือหวั่นไหวไปตามสถานการณ์ท่องเที่ยวอีกต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen