

- บิ๊ก ทอท.ถกพนักงานปลุกกระแสใช้จังหวะก้าวสู่ปีที่ 43-44
- รวมพลังฮึดสู้ “ฟื้นธุรกิจสนามบิน” ปี’66 ร่วมมือลดค่าใข้จ่าย
- หวังกำไร ปี’67 ฉลุยตั้งเป้าทวงคืนผู้โดยสาร 142 ล้านคน
- ลุ้นทำสถิติผลประกอบการกับโบนัสอีกครั้ง หลังถอดบทเรียนละเอียดยิบทั้งขององค์กรและพันธมิตรสนามบิน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “AOT/ทอท.” เปิดเผยว่า ได้เปิดเวทีพบพนักงาน ทอท.ทั้งหมดผ่านการ“คุยให้คิด” โดยได้ลำดับเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 เกิดขึ้นในโลกเริ่มตั้งแต่พฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 จนถึงปี 2565 ขณะนี้ ทอท.กำลังเพิ่งเริ่มฟื้นตัวปี 2566 และคาดจะกลับสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
ตามแผนปี 2566 จะเป็นปีที่ ทอท.ครบ 43 ปี แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายการนำธุรกิจสนามบินก้าวข้ามวิกฤตกลับสู่ปกติให้สำเร็จ หลังจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA : International Air Transport Association) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO : International Civil Aviation Organization) ทุกสำนักฟันธงเป็นเสียงเดียวกันถึงสถานการณ์ระยะยาวปี 2567 ผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางเข้าเมืองไทยเป็นปกติปีละ 142 ล้านคน

นายนิตินัยกล่าวว่าปี 2567 ผู้โดยสารจะกลับมาในเชิงปริมาณ แต่ใน “บริบท” เรื่องการบริการของ ทอท.และการท่องเที่ยวของไทยจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นจึงจะขอโฟกัสการบริหารจัดการธุรกิจสนามบินทั้งหมดซึ่งเป็นช่วง ทอท.ก้าวสู่ปีที่ 43 เพิ่งฟื้นจากโควิด-19 หรือ “ปีเปลี่ยนผ่าน” แต่ได้เตรียมความพร้อมลงทุนขยายอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ อุปกรณ์ เครื่องเอ็กซเรย์ รวมทั้งบุคลากรบริการเรื่องคุณภาพและใบรับรองพนักงานตรวจค้น ไม่เคยให้หมดอายุ ได้ทำตามมาตรฐานปฏิบัติการอย่างเข้มข้นมาตลอด
เพราะทอท.ตระหนักดีถึงการกลับมาอีกครั้งจะต้องทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจคนเมือง (ตม.) ศุลกากร สายการบินนานาชาติ พนักงานบริการภาคพื้นดิน (ground service) การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (cargo)
“ผมยังไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับซึ่งเป็นผู้ประกอบการในสนามบินจะมีความพร้อมเหมือน ทอท.หรือไม่เพราะเมื่อเข้าสู่วิกฤตเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีธุรกิจใดคงสภาพเดิมอยู่ได้ แต่ละธุรกิจก็มีเทคนิคสร้างความอยู่รอดของตนเอง ลดไขมัน กระชับต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงให้มากที่สุด”

จากการประเมินสถานการณ์ปี 2566 ทอท.ครบ 43 ปี แต่ธุรกิจสนามบินจะเจอกับปัญหา “ระเบิดเวลา” ซึ่งเกิดเป็นหย่อม ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีปัญหาเชิงโครงสร้างต่างกันไป ฉนั้นสถานการณ์เพิ่งฟื้นตัวปีหน้า จากนั้นปี 2567 ทอท.ครบ 44 ปี ก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ผู้โดยสารกลับสู่ปกติปีละ 142 ล้านคน จึงต้องกระตุ้นให้พนักงานทั้งหมด “ร่วมมือร่วมใจกัน” นำองคาพายพการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งหมดผ่านวิกฤตไปให้ได้ โดยที่ทุกฝ่ายยังมีเรื่องต้องทำกันอีกหลายอย่าง
เรื่องสำคัญคือ “การประหยัดค่าใช้จ่าย” เนื่องจากสถานการณ์ปี 2565 ทอท.ยังขาดทุนอยู่ แต่พนักงานเองก็ยังคงมีคำถามว่าจะมีโบนัสหรือไม่ ปี 2566 จากการประมาณการณ์ตามที่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว ระบุจะมีผู้โดยสารกลับมาได้ประมาณ 77 % เป็นผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 50-50 ปีหน้าถ้าสามารถผู้โดยสารกลับมาได้สัก 60 % ขึ้นไป ก็จะพอมีกำไรบ้าง แต่จะมีตัวแปรที่ต้องคำนวณคือผู้โดยสารหลักตลาดจีน รัฐบาลจะเปิดประเทศให้คนเดินทางออกได้ตามปกติหรือไม่ด้วย
ฉนั้นปี 2566 จึงอาจจะหมิ่นเหม่การทำกำไรหรือขาดทุน ตัวแปรสำคัญจะทำให้ ทอท.”กำไร” คือความร่วมมือกัน“ควบคุมค่าใช้จ่ายขององค์กร” เพื่อรอลุ้นเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC :Passenger Service Charge ) ได้คนละ 700 บาท
โดยสรุปความหวังจากภายนอกนั้นต้องแล้วแต่ “ดวง” โดยเฉพาะการลุ้นให้จีนเปิดประเทศ กับมีเที่ยวบินนานาชาติทั่วโลกบินเข้าไทยเพิ่มขึ้น แต่ “ฝีมือ” ของ ทอท.คือการแสดงพลังตัดลดค่าใช้จ่ายลงให้ได้มากที่สุด ร่วมมือร่วมใจกันสู้ด้วยกันต่อหลังจากสู้กันมาเกินกว่า 2 ปี ก็ขอให้พนักงานทั้งหมดช่วยกันอย่างเต็มที่เพื่ออนาคตของทุกคน

นายนิตินัยย้ำว่า ความท้าทายตอนนี้มีเวลา 10 เดือนเศษ จะเข้าสู่ปีงบประมาณ 2567 ลุ้นให้การบินกลับสู่ภาวะปกติแต่หลายธุรกิจจะสามารถเรียกศักยภาพของตัวเองกลับมาได้หรือไม่ยังต้องรอดู ส่วนของ “ทอท.” ซึ่งเป็นศูนย์กลางหรือไข่แดงเรียกว่าเป็นTier 1 สามารถไปต่อได้ กำลังเป็นห่วงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ร่วมทำธุรกิจอยู่ด้วยหรือ Tier 2 เปรียบเทียบก็เหมือน “ปะการัง” เป็นวัตถุแข็ง ๆ ที่มีรูพรุนเต็มไปหมด ทอท.เองก็ไม่รู้ว่ารูพรุนของผู้ประกอบการอยู่ตรงจุดไหนกันบ้าง ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 “สายการบินนานาชาติ” หลายแห่งต้องลดฝูงบินเหลือ 40-50 % ซึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อฝูงบินหายไปถึงครึ่งหนึ่งแต่ละสายการบินจะตัดเส้นทางบินใดออกไปบ้าง ทอท.ก็ไม่แน่ใจมากนัก
กลุ่มที่ 2 บริการภาคพื้นดิน การให้บริการขนกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารเกิดความล่าช้าเป็นชั่วโมง เช่นปรากฏการณ์ที่คนทั่วโลกเห็นจากสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษมีกระเป๋าผู้โดยสารกองอยู่ในลานบินนานกว่า 2 วัน กว่าจะเคลียร์ได้ยุโรปยิ่งแย่กว่าไทย เพราะรัฐบาลจ้างให้คนออกจากงาน จึงไม่แน่ใจคนจะกลับเข้าสู่ภาคบริการอีกหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นต้องกลับเพราะรัฐบาลจ่ายเงินดูแลประชาชน
กลุ่มที่ 3 คนขับแท็กซี่รับผู้โดยสารเข้าออกสนามบิน ก็เป็นเพื่อนร่วมงานของ ทอท.ที่ส่งผลต่อคุณภาพบริการของสนามบินว่าจะดีหรือไม่ได้ดีด้วยเช่นกัน ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีแท็กซี่สีต่าง ๆ จอดว่างร้างเต็มไปหมด คนขับก็อาจจะกลับบ้านเกิดไปทำอาชีพใหม่แล้ว ส่วนสหกรณ์เจ้าของแท็กซี่ได้ซื้อรถใหม่หรือเปล่า กรณี สนามบินดอนเมือง มีแท็กซี่ลงทะเบียนกับสนามบิน 2,400-2,700 คัน ตอนนี้เหลือลงทะเบียนเหลือแค่ 400 คัน ปัญหารถแท็กซี่สนามบินดอนเมืองเหลือน้อย ลำพังรถที่มีอยู่ปกติก็แทบจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน วันศุกร์ ฝนตก รถติด แท็กซี่กลับเข้าสนามบินไม่ทันไม่เพียงพอใช้งานอยู่แล้ว
ดร.นิตินัย ยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาโครงสร้างของอุตสาหกรรมการบินที่เกิดขึ้นทั้งระบบ สาเหตุจากวิกฤตระยะยาวของโควิด-19 ได้ทำลายซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานลงไป ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจาก ทอท.ที่เดียว แต่เกิดจากความร่วมมือ และความพร้อมทั้งหลาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ การกลับคืนสู่ภาวะปกติไม่ได้สามารถทำได้ง่าย ๆ ไม่เฉพาะไทยประเทศเดียวแต่เป็นปัญหาซึ่งเกิดกับทั่วโลก
ทั้งนี้ ทอท.และทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มตั้งแต่พฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 จากนั้นเมื่อ 23 มกราคม2563 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น ขณะนั้นอุตสาหกรรมการบินกำลังเติบโตพนักงานทุ่มเททำงานเต็มที่พูดคุยกันถึงเรื่องการทำสถิติผลประกอบการและจ่ายโบนัสสูงสุดหรือไม่ แต่ ทอท.ก็ต้องเจอฝันร้ายจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 บวกกับปิดเมืองอู่ฮั่น
ทำให้ ทอท.ต้องเผชิญความท้าทาย เรื่องที่ 1 ขาดทุนเป็นครั้งแรก 15,000 ล้านบาท เรื่องที่ 2 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการพันธมิตรในสนามบินกว่า 1,000 ราย มีเพียง 12-14 ราย สามารถจ่ายผลตอบแทนให้ทอท.สูงกว่าราคาการันตีขั้นต่ำ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2563 เหลือแค่ 4 ราย แล้วเดือนเมษายน 2563 ก็ไม่มีผู้ประกอบการแม้แต่รายเดียวสามารถจ่ายผลตอบแทนดังกล่าวได้

สำหรับปีงบประมาณ 2565 คาดหวังผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินของ ทอท.จะฟื้นกลับมาได้ประมาณ 45 ล้านคน/ปีเปรียเทียบกับก่อนโควิด-19 มีถึง 142 ล้านคน/ปี อีกทั้งยังเคยลงไปต่ำสุดเหลือ 20 ล้านคน/ปี สถานการณ์ปีนี้ฟื้นกลับมาได้เพียง 1 ใน 3 หรือแค่ 33 % ของปี 2562
วันนี้ผู้นำ ทอท.พยายามอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจกับพนักงานทั้งหมดร่วมมือกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ก้าวสู่ปีที่ 43 และปีที่44 ทำให้ธุรกิจสนามบินนานาชาติของประเทศไทยกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen