

บีทีเอส ชี้แจงเหตุออกมาเคลื่อนไหวการดำเนินงานจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมเดินหน้าทวงหนี้ กทม. กว่า 3 หมื่นล้านบาท หากไม่ได้รับการตอบรับจ่อฟ้องร้องศาลปกครองขอความเป็นธรรม ย้ำ!ไม่มีเจตนาทวงหนี้เพื่อต่อรองแก้ไขสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส เปิดเผยชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านทางเพจ Facebook : รถไฟฟ้าบีทีเอส ว่า สืบเนื่องจากบริษัทฯ ได้ส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่บริษัทฯซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทฯ ได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามนั้น บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับแจ้งถึง แนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐแต่อย่างใด และต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 64 บริษัทฯ ได้ออกจดหมายและคลิปวีดีโอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ผู้โดยสาร และประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบหรือเรียกร้องให้ภาครัฐใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
สำหรับสาเหตุที่บริษัท ต้องออกมาเรียกร้อง เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทฯ กำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากการต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 60 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการชำระหนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบริษัทฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 60 จนถึงเดือนมีนาคม 64 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกลจำนวน 20,768 ล้านบาท

และล่าสุดตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 64 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณ ของกทม.มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่ง คสช. ดังนั้นในฐานะที่เป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนกว่า 101,700 ราย รวมถึงมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทฯ มาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาในการติดตามทวงถามกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่ได้มีความประสงค์ที่จะนำหนี้ค้างชำระดังกล่าว มาเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 แต่อย่างใด ขณะเดียวกันหากไม่ได้รับการชดใช้จาก กทม. ทางบริษํทก็จะเดินหน้าฟ้องร้อง กทม. ต่อศาลปกครอง เพื่อร้องขอความเป็นธรรม
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้ โดยในปี 62 ได้เสนอขอให้ทางบริษัทฯ เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาว แทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวกับภาครัฐบาล ซึ่งนำมาสู่ผลการเจรจาร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 และผ่านการตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและดุลพินิจของภาครัฐบาล ที่จะกำหนดใช้แนวทางใดตามที่เห็นสมควร โดยพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญบริษัทฯ รับทราบว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีกับภาครัฐบาลในการสนับสนุนและแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อไปจะเป็นเช่นไรเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของรัฐบาล โดยบริษัทฯ ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมายและสัญญาในขั้นตอนต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งเป็นประชาชนรายย่อยที่ถือหุ้นอยู่จำนวนมาก และตลอดระยะเวลากว่า 21 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 42 บริษัทฯ ได้จัดให้มีบริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพแม้ว่าในบางช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ จะเคย ประสบปัญหาสถานภาพทางการเงินอย่างหนัก จนถึงกับต้องนำบริษัท ฯ เข้าฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลายมาแล้ว