ทนไม่ไหว…บีทีเอสยื่นหนังสือต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอให้ตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังบอร์ดรฟม.รื้อทีโออาร์

บีทีเอส ยื่นหนังสือต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังบอร์ดรฟม. รื้อทีโออาร์ โดยเห็นว่าอาจไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส ด้านเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอรัปชัน ระบุหากปรับกติกาหลังเปิดประมูลไปๅแล้ว อาจขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและจะกระทบความเชื่อมั่นในระบบจัดซื้อจัดจ้าง

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทโดยให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่ข้อเสนอด้านราคา จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ข้อเสนอด้านราคาพิจารณาตัดสินผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ซื้อซองประกวดราคา โดยต้องการให้กลับมาใช้ ทีโออาร์ เดิม ที่ให้ยึดราคาเป็นเกณฑ์พิจารณาอย่างเดียว

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ถือว่าไม่เป็นธรรม และได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางแล้ว ซึ่งโครงการดังกล่างเป็นโครงการร่วมทุนพีพีพี ซึ่งครม.ได้อนุมัติและได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ ก่อนเปิดให้เสนอซื้อซองประมูล โดยยึดเกณฑ์การพิจารณาด้านราคาเหมือนกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง ทีโออาร์ ใช้เทคนิคควบคู่ราคา ซึ่งการใช้เทคนิคมาพิจารณาถือเป็นใช้ดุลพิจนิจที่มากเกินไป แล้วอาจเกิดการไม่เป็นธรรมได้ อีกทั้งมีการขายซองประมูลแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายก็เปิดหน้าชก แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ซึ่งบีทีเอสมองว่าอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนก็จะยากลำบาก

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างต้องโปร่งใส เปิดเผยได้อย่างเสรี แต่โครงการนี้ มีการเปลี่ยกติกา แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน หากจะเปลี่ยนเงื่อนไขหลังการขายซองจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกทีโออาร์เดิมหรือขายซองใหม่เท่านั้น เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลังการขายซองแล้วถือว่าขัดต่อธรรมาภิบาล จึงมองได้ว่า จะเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมหากยอมรับ ประเทศจะเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ การประมูลรถไฟฟ้าของประเทศไทยที่ผ่านมาจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สีเขียว และสีม่วง ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ภาครัฐบาลได้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมเพื่อมีความโปร่งใส แต่กลับกันโครงการนี้ที่โครงการเดียวมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทเทียบเท่ากับทั้ง 3 สาย ทาง ACT ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่ต้นก็จะเกิดความโปร่งใสและรักษาผลประโยชน์ของประเทศได้