ททท.แกนนำหลักเที่ยวไทยปี’66 ทำเป้ารายได้ 3 แสนล้าน รุก 4 ตลาด ชูเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 สงกรานต์หยุดเที่ยวนอก



  • ททท.ภาคกลางโต้โผใหญ่เที่ยวไทยปั๊ม 3 แสนล้าน Q 1/65 ตุนยอดพักสูงลิ่ว 72 % ตีปีกรับ 4 เทรนด์ตลาดใหม่“เที่ยวยกครัว/เมืองหลักมีชื่อเสียง/เที่ยวใกล้/เที่ยวเมืองรอง”
  • บูม 4 โปรเจกต์ “365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย” กระหน่ำขาย Wonder Deal +CODE ลับ ตามด้วย Amazing Sport way
  • ใช้ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส5” สกัดสงกรานต์เที่ยวนอก พลิกโฉม “เมืองรองต้องลอง”
  • ทำเพิ่ม 3 โจทย์ใหม่ “Shaping Supply+Soft Power Marketing+The Link Local to Global

นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวภาพรวมตามเป้าหมายทั้งประเทศตั้งเป้ารายได้ 2.38 ล้านล้านบาท “ตลาดในประเทศ” ต้องมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 880,000 ล้านบาท โดยมี “ททท.ภูมิภาคกลาง” รับโจทย์ใหญ่ทำให้ได้ถึง 1 ใน 3 ของเป้าหมายรวม ต้องสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท ด้วยจำนวนไทยเที่ยวไทย 56 ล้านคน-ครั้ง

ปี 2566 คนไทยมีแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยว 4 เทรนด์ ได้แก่ เทรนด์ที่ 1 ท่องเที่ยวกับครอบครัวมากที่สุด 74.43 % เทรนด์ที่ 2 สนใจเที่ยวเมืองหลักเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด 76.55 % เทรนด์ที่ 3 ท่องเที่ยวในภูมิภาคเดินทางไม่ไกลใช้เวลาไม่นาน 72.73 % เทรนด์ที่ 4 สนใจท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น 70.76 %

ช่วงไตรมาส 1 ตลอดเดือนมกราคม 2566 การท่องเที่ยวภาคกลางทำได้ตามเป้าหมาย มีผู้เยี่ยมเยือนแล้ว 7,136,195 คน-ครั้ง เติบโต 28.93 % แบ่งเป็น ผู้เยี่ยมเยือน (พักค้างคืน) 3,064,724 คน-ครั้ง นักทัศนาจร (ไปเช้าเย็นกลับ) 4,071,471 คน-ครั้ง ทำ “รายได้รวม” กว่า 21,997.23 ล้านบาท เติบโต 31.51 % มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OR-Occupacy Rate) สูงถึง 72.09 % เพิ่มขึ้น 30.52 %  “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย” เกินกว่า 2,757.20 บาท/คน/วัน เพิ่มขึ้น24.42 % มี “วันพักเฉลี่ย” ใกล้เคียงกับปีก่อน  1.95 วัน/คน/ทริป

ตอนนี้มีจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 2.กาญจนบุรี 3.ประจวบคีรีขันธ์4.พระนครศรีอยุธยา 5.เพชรบุรี นักท่องเที่ยวภาคกลาง อันดับ 1 “กลุ่มครอบครัว” นิยมเดินทางท่องเที่ยวสูงสุดอันดับ 2 มัลติเจนเนเรชั่น เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวตอบโจทย์ทั้งสองกลุ่มนี้ครบทุกมิติ

ส่วนไตรมาส 2 ระหว่างเมษายน-มิถุนายน 2566 เตรียมแผนที่เดินหน้าโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ต้อนรับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ Trendy C2 จะเดินหน้า 4 โครงการ

โครงการที่ 1 “365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” จะจับมือกับแพลตฟอร์ม LAZADA ระหว่าง มีนาคม-มิถุนายน นี้ เปิด 2 แคมเปญ คือ แคมเปญแรก “Wonder Deal -สิ้นเดือนเหมือนการเริ่มต้นใหม่” จะเริ่มเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป เน้นให้ความสำคัญกับคนไทยเที่ยวไทย ช่วงปิดเทอม เพื่อต่อสู้กับกระแสคนไทยหันไปเที่ยวต่างประเทศแคมเปญที่ 2 “CODE ลับ 365 วันพาเพื่อนเที่ยว” ชวนจับกลุ่มกับเพื่อนรวมตัวกัน 3 คน ภายใน 6 สัปดาห์ เดินทางให้ครบ 5 จังหวัด พร้อมส่งคอนเทนท์เด็ดรวบรวมประสบการณ์ส่งชิงเงินรางวัล 365,365 บาท

โครงการที่ 2 “Amazing Sportway เสน่ห์ภาคกลาง” เจาะกลุ่มคุณภาพภายใต้กลยุทธ์กระตุ้นการเดินทางและเพิ่มการใช้จ่ายเงิน ด้วยสินค้ามูลค่าสูง ททท.จะจับมือกับบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีสมาชิกบัตรพร้อมใช้เงินสูงร่วมกิจกรรมกีฬา อย่าง กีฬาทางน้ำ กอล์ฟ แบบลักชัวรี่ในเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม นี้

โครงการที่ 3 เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 จะเปิดให้นักท่องเที่ยวจองที่พักเริ่มวันที่ 7 มีนาคม นี้ แล้วเริ่มท่องเที่ยวได้ตั้งแต่10 มีนาคม -30 เมษายน นี้ ส่งเสริมในลักษณะ Flash Sale ทำงานเชิงยุทธศาสตร์เติมเต็มนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเที่ยวทั้งประเทศ 5 ภูมิภาค โดยเฉพาะ “กลุ่มครอบครัว” ซึ่งมีศักยภาพสูงวางแผนใช้ช่วงปิดเทอมพากันเที่ยวเมืองไทย

โดยเฉพาะช่วง “สงกรานต์” แนะนำให้ใช้แคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5” เที่ยวเมืองไทยอย่างคุ้มค่า แนะนำให้รีบวางแผนตั้งแต่ตอนนี้เพราะจองที่พักได้ทั้งหมด 560,000 สิทธิ์ คนละ 5 สิทธิคืนพัก จองในจังหวัดนอกทะเบียนบ้านจองล่วงหน้าก่อนเดินทางเข้าพัก 3 วัน รัฐสมทบจ่ายค่าห้องพักให้ 40 % ราคาไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน และคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว ทุกวันคนละ 600 บาท/วัน

โครงการที่ 4 เมืองรอง ต้องลอง ในภาคกลางมีทั้งหมด 7 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรีอ่างทอง ชัยนาท จะเลือกนำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ “สิงห์บุรี” กับ “ชัยนาท” จะต้องปรับภาพลักษณ์การสื่อสารและคัดสรรสินค้าใหม่ให้เข้าถึงคนหลากหลายเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับมุมมองใหม่ เข้าใจง่าย สร้างความแตกต่างจากเดิม ๆ ซึ่งมักจะทำกิจกรรม อาหาร ไหว้พระ ซื้อของที่ระลึก ซึ่งควรจะต้องพลิกโฉมให้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเก่า เพื่อดึงดูดให้คนพักค้างคืนเพิ่มขึ้น

ตัวอย่าง จังหวัดสิงห์บุรี จะทำธีม “วิถีเมืองสิงห์” ยกระดับจุดขายมุมใหม่ กลุ่มที่ 1 อาหารถิ่นสามารถจับคู่กับเครื่องดื่มชั้นยอดหรือไวน์ชั้นเยี่ยม สื่อความหมายที่มีอยู่แล้วให้โดดเด่น กลุ่มที่ 2 งานคราฟท์/หัตถกรรม

สำหรับโครงการ “เมืองรอง ต้องลอง” จะปูพรมต่อยอดเพิ่มโดยใช้งบกระตุ้น City Marketing ซึ่งเป็นโมเดลที่ททท.เคยทำสำเร็จจากภูเก็ตมาประยุกต์ใช้ ด้วยการเดินหน้าขยายผลต่อในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งสามารถเจาะลึกส่งเสริมตลาดการขายได้ตั้งแต่ระดับอำเภอจนถึงจังหวัด เพื่อให้พื้นที่นั้น ๆ มี “อัตลักษณ์สื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่” ได้ชัดเจน โดยมี VP ของแต่ละเมือง แต่ละจังหวัด เช่น ชะอำ หัวหิน ปราณบุรี

ผอ.กิตติพงษ์ กล่าวว่า ล่าสุด ททท.แต่ละภูมิภาครับนโยบายเพิ่มอีก 3 โจทย์ใหม่ ประกอบด้วย

โจทย์ที่ 1 มียุทธศาสตร์ Shaping Supply โดย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.นำทีมจัดประชุมตลาดในประเทศได้สร้างสรรค์ยุทธศาสตร์นี้ขึ้นสร้างความว้าวอย่างมาก ด้วยการนำโมเดล SDG -Sustainable Development Global ของสหประชาชาติ 17 ข้อปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวของไทยแปลงโฉมเป็น STG- Sustainable Tourism Goal ด้วยแนวปฏิบัติ 17 ข้อเช่นเดียวกัน เป็นแนวทางคู่ขนานเชื่อมโยงกันได้

ตามแผนในอนาคตอันใกล้นี้ทางผู้ว่าการ ททท.เตรียมจะเสนอให้ UN รับรองมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ STG ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับ SDG ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องดีมากนำไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างแท้จริง ที่จะนำ “มาตรฐาน” มาใช้ปฏิบัติกับ “ผู้ประกอบการท่องเที่ยว” โดยมีแนวทางปฏิบัติทำให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนโดยมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน

ขณะที่ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท.เพิ่มอีก 2 โจทย์ ได้แก่

โจทย์ที่ 2 เดินหน้ากลยุทธ์การตลาดใหม่ซอฟท์เพาเวอร์ “Soft Power Marketing” โดยนำจุดแข็งของไทยมาเป็นจุดขายท่องเที่ยว โดยนำ 5F มาต่อยอด สื่อถึงมิติคุณค่าการท่องเที่ยวอย่างมีความหมายมากขึ้น เช่น F1-Food/อาหาร เพิ่มเป็น Flavor หรือรสชาติ F2-Fashion/เครื่องแต่งกาย ขยายผลเป็น Fascinate หรือความหลงไหล F3-Film/ภาพยนต์ เพิ่มเป็น Fever หรือสร้างกระแส F4-Fight มวยไทย เพิ่มความหมายเป็น Fit &Firm หรือสุขภาพดีF5-Festival/เทศกาล เพิ่มเป็น Fun หรือความสนุกสนาน 

โจทย์ที่ 3 The Link Local to Global เชื่อมโยงการท่องเที่ยว “ในประเทศ” จากเมืองหลักสู่เมืองรอง จังหวัดต่าง ๆกับ “ต่างประเทศ” เมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ของไทยกับเมืองในต่างประเทศ กระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางต่อเนื่องตามพื้นที่เป้าหมายควบค่กับการพัฒนายกระดับสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมรวมถึงทัศนคติของนักท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับ City Marketing

ผอ.กิตติพงษ์ กล่าวต่อถึงการเตรียมความพร้อมแหล่งท่องเที่ยวภาคกลางต้อนรับนักท่องเที่ยวตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีน จะปรับรูปแบบแตกต่างจากอดีตเน้นการส่งเสริม “กระจายตัวนักท่องเที่ยว” เน้นความสมดุลทั้งเมืองหลักเมืองรอง ควบคู่กับ “สร้างกระแส” และส่งเสริมผู้ประกอบการ “สื่อสารภาษาจีน” โดย ททท.จุดกระแสท่องเที่ยวเชื่อมโยง เช่น เมืองโอ่ง จ.ราชบุรี โดดเด่นด้านวัฒนธรรม การวาดลวดลายมังกร ซึ่งสามารถเชื่อมกับมณฑลกวางโจวหรือจังหวัดนครปฐม มีสนามกอล์ฟระดับพรีเมี่ยม หรือแม้แต่อาหารการกินรอบองค์พระปฐมเจดีย์แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen