

- พลิกโฉมไทยผงาดนำตลาด “มูลค่าสูงท่องเที่ยวยั่งยืน” สร้างคุณค่า รักษาสิ่งแวดล้อม
- รุกเจาะลูกค้าโลก 9.7 แสนล้านบาท เพิ่ม 3 เทรนด์โลกใหม่มาแรง “Digital Nomad+Telework+SAP”
- ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยงัดธีมขาย 5 ภาค 7.6 แสนล้านบาท
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้จัดทำแผนการท่องเที่ยวปีงบประมาณ 2566 โดยกำหนดทิศทางการตลาดให้สอดคล้องกับแผนวิสาหกิจองค์กร ททท. 5 ปีข้างหน้าพ.ศ.2566 – 2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่ามุ่งสู่ความยั่งยืน” เพื่อสร้างรายได้ตามนโยบายให้เข้าเป้ารวมในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80 % ของปี 2562 แบ่งเป็น รายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดในประเทศอีก 760,000 ล้านบาท

ปี 2566 ททท. วางแผนยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูทุกมิติ ตาม 3 วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย
1.Drive Demand : มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน 2.Shape Supply : สร้างคุณค่าและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem) และ 3.Thrive for Excellence : ยกระดับองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูง มุ่งสู่การเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนข้อมูลการท่องเที่ยว หรือ Data Driven Organization เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการตลาด
ภายใต้เป้าหมายพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศท่องเที่ยวมูลค่าสูงและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือHigh Value & Sustainable Tourism อย่างแท้จริง ด้วยวิธีจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากปี 2566 มีความท้าทายอย่างมากที่จะนำตลาดต่างประเทศกลับสู่ปกติ ททท.จึงต้องเน้นเรื่องการร่วมมือกับพันธมิตรสร้างคุณค่าโดยเฉพาะกับธุรกิจสายการบินต่าง ๆ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากการเพิ่มความจุที่นั่ง ดึงฐานลูกค้าเดิมในพื้นที่ตลาดหลักที่มีนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางได้อย่างอิสระตามปกติและสามารถออกเดินทางได้ทันที ททท. เน้นกลยุทธ์การปรับสมดุลโครงสร้างตลาด ผ่านการส่งเสริมตลาดแบบ ทำน้อยได้ประโยชน์มากซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ขยายฐานกลุ่มคุณภาพอย่างเต็มที่

ผู้ว่าการ ททท. ย้ำว่า ปี 2566 ททท.พร้อมสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ทรงคุณค่าให้นักท่องเที่ยวตามแคมเปญการสื่อสาร “ตลาดต่างประเทศ” ด้วย Visit Thailand Year 2022-2023 : Amazing New Chapters นำเมนูประสบการณ์ A-Z ผสมผสานพลังซอฟท์เพาเวอร์ของประเทศไทยประกอบด้วย 5F + 4M คือ Food Film Fashion Festival Fight Music Museum Master Meta )
แคมเปญสื่อสารในประเทศ ชูธีม “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ควบคู่การต่อยอด และพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่อย่างสมดุลทั้ง 4 มิติ ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐกิจ : Economic Wealth 2.สังคม : Social Wellbeing 3.สิ่งแวดล้อม : Environmental Wellness 4.เสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ : Human Wisdom
ใช้วิธีบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันและความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะ “ตลาดต่างประเทศ” พร้อมรุกตลาด 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นักเดินทางคุณภาพกระแสหลัก เช่น กลุ่มมิเลนเนียลหรือคนรุ่นใหม่ กลุ่มเจนเอ็กซ์ กลุ่มผู้สูงวัยหรือ SAP-Silver-Age-People กลุ่มที่ 2 ขยายฐานตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษโดยเฉพาะ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์รวมหรือ Health & Wellness กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ กลุ่มที่ 3 เพิ่มตลาดเฉพาะใหม่ ๆ เช่น กลุ่มทำงานได้ทุกสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลกหรือ Digital nomad กลุ่มคนทำงานทางไกลและที่บ้านหรือ Telework
“ตลาดระยะไกล” ททท.ประเมินสถานการณ์ปี 2566 จะเป็นช่วงเวลากระแสใหม่ที่จะแสวงหา 3 กลุ่มตลาด(Segment) ที่มีเวลาพักผ่อนและซึบซับประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในประเทศไทย อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์กร กลุ่มครอบครัวที่มีลูก ๆ (Family with Kids) กลุ่มผู้สูงวัยที่กระตือรือร้น (Active Senior) กลุ่มทำงานทางไกลและที่บ้าน (Telework)
โดยเตรียมส่งเสริมการตลาด 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ผสมผสานกลยุทธ์ City Marketing โดยแสวงหาความร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อพร้อมจ่าย รวมทั้งมอบสิทธิพิเศษแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
2.เปิดตลาดเชิงพื้นที่ใหม่ๆ โดยสร้างการรับรู้และส่งเสริมตลาดในประเทศใหม่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ผลักดันให้เกิดการขยายตัวทั้งจำนวนและรายได้ ควบคู่การขยายพื้นที่เมืองรองในตลาดเดิม เน้นสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นฐานตลาดเดิมของไทย โดยร่วมกับพันธมิตรสายการบินเดลต้าเปิดบริการบินตอนกลางของสหรัฐเพื่อส่งเสริมการขายแพ็กเกจท่องเที่ยวไทย พร้อมทั้งจะขยายพื้นที่ส่งเสริมตลาดครอบคลุมเมืองรองขนาดใหญ่ เช่น พอร์ตแลนด์อย่างรัฐโอเรกอน/ซอลต์ เลค ซิตี้ (Utah) ด้วย

“ตลาดระยะใกล้” ททท.มุ่งสร้าง การเริ่มต้นใหม่อย่างยิ่งใหญ่ ผ่านกลยุทธ์ 2Q +5 News ประกอบ 2Q ได้แก่ 1.Quick Win ฟื้นฐานตลาดหลัก เจาะกลุ่มคุณภาพ กระตุ้นกลุ่มกลับมาท่องเที่ยวใหม่ 2.Quality เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพโดยมุ่งเพิ่มทั้งจำนวน ความถี่ ด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มความสนใจพิเศษ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์รวมกลุ่มแต่งงานและฮันนีมูน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มท่องเที่ยวหรูหรา
ส่วน 5 News ได้แก่ 1.New segment-เจาะกลุ่มตลาดศักยภาพกลุ่มใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโต 2.New area เจาะพื้นที่ตลาดใหม่ 3.New partner ร่วมมือกับคู่ค้าพันธมิตรรายใหม่ 4.New infrastructure ใช้ประโยชน์จากการคมนาคมรูปแบบใหม่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว 5.New way เสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่รักษาสิ่งแวดล้อมและตอกย้ำจุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ผลักดันการเพิ่มโอกาสเข้าถึงไทยทั้งทางบกทางน้ำ และทางอากาศ โดยทางบกจะดึงนักท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามแผ่นดินจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนทางอากาศ จะผลักดันเพิ่มจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินจากตลาดระยะใกล้ให้กลับมามากกว่า 80 % ของปี 2562 และจะมุ่งพลิกโฉม เปลี่ยนมุมมอง สร้างภาพจำใหม่ให้ประเทศไทย
ส่วน “ตลาดในประเทศ” ททท. ชูแคมเปญสื่อสาร “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ด้วยกลยุทธ์ REAL ได้แก่ R: Responsible Tourism ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ E :Extra-ordinary Experience ท่องเที่ยวเพิ่มประสบการณ์ A :Avantgarde Marketing ท่องเที่ยวอย่างล้ำยุคสมัย L : Less for more Economy ได้ประโยชน์มากกว่าทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งการต่อยอดส่งเสริมตลาด 5 ภูมิภาค ผ่านแคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย…เที่ยวได้ทุกวัน” ชูความแตกต่างแต่ละภาคอย่างมีเอกลักษณ์ คือ
“ภาคเหนือ” เสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวธีม “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในภูมิภาค เจาะกลุ่มครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย
“ภาคกลาง” เพิ่มเมนูประสบการณ์ใหม่แบบอินเทรนด์ในธีม “Trendy C2” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen-Y และ Gen-Z
“ภาคตะวันออก” ซึมซับประสบการณ์ท่องเที่ยวธีม “Story สาย สบาย” ด้วยสินค้าท่องเที่ยวเชิงอาหารควบคู่ความหรูดรา เจาะกลุ่มเจนวาย กลุ่มผู้มีรายได้สูง และ กลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่
“ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เที่ยวสุด COOL หลงรักอีสานได้ทุกวัน ใน 20 จังหวัด นำเสนอสินค้าท่องเที่ยวธีม 3 ธรรมธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เจาะกลุ่มเจนวาย คนวัยทำงาน
“ภาคใต้” เสิร์ฟความจัดจ้าน “หรอยแรง แหล่งใต้” ที่มีดีมากกว่าทะเลคือรสชาติอาหารหลากหลาย พร้อมกระตุ้นกระแสท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ททท.ได้ทำแผนส่งเสริมตลาดเส้นทางเที่ยวเมืองรอง 5 ภูมิภาค “เมนูเปิดประสบการณ์ใหม่…เมืองรองมิรู้ลืม” และให้สำคัญกับการขับเคลื่อน ยกระดับองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูงมุ่งสู่การเป็น Data Driven Organization โดยใช้แพลตฟอร์มหลัก Thailand Tourism Virtual Mart : TTVM หรือ https://virtualmart.tourismthailand.orgเปิดพื้นที่ทำการตลาดออนไลน์ในรูปแบบ B2B เป็นศูนย์กลางนัดพบของภาคธุรกิจระหว่างตัวแทนขายในกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยกับผู้ซื้อจากบริษัทนำเที่ยวต่างชาติทั่วโลก

ทางด้าน “สื่อสารการตลาด” ภาพรวม ททท. พร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย “ตลาดในประเทศ” ด้วยแคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” นำเสนอการท่องเที่ยวด้วยมุมมองใหม่ เติมความหมายของการเดินทางท่องเที่ยว ชดเชยช่วงเวลาที่พลาดโอกาสได้เดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับจากนี้เป็นต้นไป “ได้เวลา” ออกเดินทางท่องเที่ยวสร้างความสุขด้วยการออกไปเที่ยวพร้อมดูแลธรรมชาติในช่วงเวลาแสนพิเศษ ด้วย“โมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ”
ขณะที่ “การสื่อสารตลาดต่างประเทศ” ททท.ตอกย้ำแคมเปญ “Visit Thailand Year 2022-2023 : Amazing New Chapters” เพื่อพลิกโฉมเที่ยวเมืองไทยเดินทางอย่างมีความหมายเป็นจุดหมายปลายทางในการกลับมาพบกันอีกครั้ง พร้อมกับการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับสู่เวิลด์คลาส ภายใต้แนวคิดเมนูประสบการณ์ A to Z Amazing Thailand Has it All และ Soft Power of Thailand ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาค้นหาและร่วมออกแบบการเดินทางร่วมกัน
ทั้งนี้ ททท.ได้แถลงแผนเพื่อสื่อสารทิศทางและแนวทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวปี 2566 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม2565 เลือกใช้รูปไฮบริด โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ททท. คณะกรรมการ ททท. ผู้บริหาร ททท. และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen