

- ททท. อัดเต็มเหนี่ยวแผน “สื่อสารตลาด” บูม Visit Thailand Year 2023 ปี’66 งัดใช้ 3 กลยุทธ์ “Storytelling-สื่อกระตุ้น 8 ช่องทาง-ชูภาพจำใหม่เที่ยวเมืองไทย”
- เดินหน้าลุยโฆษณาไฮไลต์ 10 โปรเจกต์ หวังกวาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างความฮือฮาในตลาดเทโฆษณาปีแรก“ในจีนด้วยภาษาจีน”
- เดินสายทำ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เฟสต์” ทั่วโลก แปลงโฉมนิตสาร อ.ส.ท.เป็นผู้นำเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้วางแผนสื่อสารการตลาด ททท.ต้อนรับการเปิดตัว “ปีท่องเที่ยวไทย 2566 -Visit Thailand Year 2023 :Amazing New Chapters” เพื่อส่งข้อมูลเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยจะทำให้เกิด Meaningful Travel -การท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า ผ่านช่องทางหลากหลายในโซเชียล มีเดีย และอื่น ๆประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ เดินหน้าด้วยแคมเปญสื่อสารการตลาด 10 โปรเจกต์ไฮต์ ที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 Storytelling “มีเรื่องจะเล่า หลายอย่างจะบอก อยากจะร้องดัง ๆ” ผ่านการสื่อสารด้วยคอนเซ็ปต์“Collaborate” เน้นการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย “Communicate” สื่อสารตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ“Create Awareness” สร้างสรรความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักท่องเที่ยว โดยได้นำผลสำรวจความเชื่อมั่นจงรักภักดีต่อแบรนด์ “Amazing Thailand” ของ ททท.ซึ่งสื่อถึงการท่องเที่ยวเมืองไทยจากจุดเริ่มจนถึงวันนี้เป็นแบรนด์ที่ครองความเป็นหนึ่งมาหลายปีแล้ว

กลยุทธ์ที่ 2 สื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย นำผลสำรวจช่องทางการสื่อสารที่มีผู้ใช้งานมากสุดมาประกอบการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย มีข้อมูลสนับสนุนที่ได้ผลผ่าน 8 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 สื่อสังคมออนไลน์ 71% ช่องทางที่ 2 บทความ/หนังสือด้านการท่องเที่ยวออฟไลน์ 43 % ช่องทางที่ 3 สื่อสังคมออนไลน์ของ ททท. 37 % ช่องทางที่ 4 เว็บไซต์ของ ททท.35 % ช่องทางที่ 5บทความ/โฆษณาการท่องเที่ยวออนไลน์ 29 % ช่องทางที่ 6 โทรทัศน์ 28 % ช่องทางที่ 7 โฆษณาการท่องเที่ยวในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร28 % และช่องทางที่ 8 ภาพยนต์หรือละคอรที่มีฉากหลังเป็นประเทศไทย 26 %
กลยุทธ์ที่ 3 นำเสนอภาพจำใหม่ของการท่องเที่ยวในปี “ท่องเที่ยวไทย -Visit Thailand Year 2023” ที่ทรงคุณค่ายั่งยืน หรือ Meaningful Travel ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ เข้าถึงความหมายทั้งทางด้าน สังคม สิ่งแวดล้อม และเรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกับชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเป็นประสบการณ์ความทรงจำที่อยู่กับตัวนักเดินทางได้อย่างยาวนาน และสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจหากโปรโมทจนสำเร็จ ก็จะสร้างรายได้เข้าสู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยมีตัวอย่างแคมเปญสื่อสารการตลาดในประเทศและต่างประเทศดังนี้
“ตลาดในประเทศ” นำเสนอแคมเปญ “โมเมนท์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ” เพราะช่วงล็อกดาวน์สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงทุกคนต้องอดใจรอ ซึ่งมีความจำเป็นหลายเงื่อนไขโดยเฉพาะจังหวัดต่าง ๆ กำหนดกติกาให้เดินทางได้แตกต่างกัน แต่ตอนนี้ปลดล็อกแล้วทุกคนสามารถเที่ยวเมืองไทย อะเมซิ่ง ยิ่งกว่าเดิมได้แล้ว

“ตลาดต่างประเทศ” นำเสนอแคมเปญ “Amazing New Chapters” ภายใต้แนวคิด Write Your New Chapter คอนเซ็ปต์การสื่อสารคือ สร้างภาพจำใหม่/Make New Memories, สร้างคุณค่าการเดินทางด้วยกัน/Meaningful Moments Together ด้วยการชูขายสินค้าไทยแลนด์ ซอฟท์ เพาเวอร์ 5F
ขณะนี้ ททท.ได้เดินหน้าสื่อสารตลาดการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องไฮไลต์ด้วย 10 โปรเจกต์ ประกอบด้วย
โปรเจ็กต์ที่ 1 The One for Nature Season 2 ทำแคมเปญออนไลน์ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์

โปรเจกต์ที่ 2 Amazing Thailand Fest นำเสนอประสบการท่องเที่ยวประเทศไทยในต่างประเทศผ่านกิจกรรมonground active พร้อมสำเสนอสินค้าและบริการของพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว โดยได้จัดแล้วในต่างประเทศ 2 แห่ง ริยาด ซาอุดิอาระเบีย กับเดลี อินเดีย ปี 2566 จะทำอีก 4 แห่ง
โปรเจกต์ที่ 3 สื่อโฆษณาในตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีน เตรียมรับนักท่องเที่ยวภายใต้คีย์คอนเซ็ปต์ ชาวไทยคิดถึงและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนสู่ประเทศไทย ยินดีที่ได้กลับมาเจอกัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเกมครั้งใหญ่ในสื่อโฆษณาจีน และทำขึ้นโดยเฉพาะเป็นปีแรกในรอบหลายปีสื่อสารด้วยภาษาจีน
โปรเจกต์ที่ 4 แคมเปญเที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ระดมศิลปินระดับชาติและอยู่ในกระแสนิยม ออกมาร่วมเชิญชวนให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวกันเถอะ
โปรเจกต์ที่ 5 “เมืองรอง ไม่เป็นรองใคร” กิจกรรมสร้างการรับรู้ถึงการท่องเที่ยวเมืองรองทั่วไทย มีศักยภาพและสามารถสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยวได้ไม่แพ้เมืองหลัก ผ่านการนำเสนอคอนเทนท์และอินฟลูเอนเซอร์ท่องเที่ยว
โปรเจกต์ที่ 6 Amazing Thailand Meet The Influencers 2023 กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ B2B เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภายใต้ 3 เป้าหมาย ในการบูสท์ คอนเน็กชั่น บูสท์แทรเวลคอนเทนท์ และบูสท์ทักษะและการสร้างสรรค์กิจกรรม
โปรเจกต์ที่ 7 Amazing Thailand NFTs กิจกรรมส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวแบบเมตาเวิร์ส โดยให้นักท่องเที่ยวสะสมโทเค่นในรูปแบบ NFT ผ่านการเดินทางทั่วประเทศ เพื่อจะได้รับสิทธิพิเศษที่ ททท.ได้รับจากพันธมิตร

โปรเจกต์ที่ 8 ส่งเสริม Gastronomy Tourism ชูโรงอาหารถิ่น เชื่อมโยงแหลหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการได้ลิ้มรสอาหารชั้นเลิศผ่านเส้นทาง Gastronomy Tourism
โปรเจกต์ที่ 9 วิดีโอ Ring Back Tone จัดทำโดยใช้วิดีโอแหล่งท่องเที่ยวไทยเป็นภาพเรียกเข้าสายโทรศัพท์มือถือของหัวเหว่ย เริ่มจากนักท่องเที่ยวไทย และขยายไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป
โปรเจกต์ที่ 10 วิจัยพัฒนาสื่อ อ.ส.ท. /Media Transformation พัฒนาแบรนด์ อ.ส.ท.ให้เป็นเพื่อนรักนักเดินทางที่อยู่กับนักท่องเที่ยวในทุกช่วงของการเดินทาง และยังเป็นผู้ผลักดันการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
นายฉัททันต์ย้ำว่า ด้วยศักยภาพการสื่อสาร “แบรนด์ท่องเที่ยวประเทศไทย” ที่ ททท.ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งพันธมิตรและผู้ประกอบการในประเทศและทั่วโลก จึงทำให้ไทยมีวันนี้นั่นคือสามารถนำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปี 2565 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้จ่ายมากถึง 11.8 ล้านคน และคนในประเทศเที่ยวไทยอีกเกือบ 200 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้รวมกว่า 1.5 ล้านล้นบาท และปี 2566 ททท.ได้รับนโยบายทำเป้ารายได้ 2.38 ล้านล้านบาท
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen