

- ททท.ภาคกลางเปิดแผนฟื้นรายได้แสนล้านบาท 17 จังหวัด ชู Trendy C2 กับ 6 เมนูประสบการณ์ พ.ย.-ธ.ค.65
- ขายกระหึ่ม “เพิ่มพลังชีวิต” สายแคมป์จองเที่ยวกางเตนท์ทะลัก 4 จังหวัด กาญจบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี
- ส่วน “เพิ่มพลังสร้างสรรค์” ทัวร์สตรีทอาร์ต คึกคัก ไฮไลต์ 15 ธ.ค.นี้ เปิดใหญ่ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”
- รอโกยเงินงานบิ๊ก “Neon เคาน์ดาวน์” ที่วันเดอร์เวิลด์ ดึงศิลปิน EDM Music Dance มือ 1 ของโลกปลุกคนเที่ยว 6 หมื่นคน 1 ม.ค.66
นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แผนกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวปี 2566 ดูแลพื้นที่การตลาดภาคกลาง 17 จังหวัด ที่พร้อมจะนำคนจากทั่วประเทศเข้ามาท่องเที่ยว และส่งออกนักท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2566 วางแผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวสร้าง VP :Value Preposition มอบคุณค่าของสินค้าที่ดีที่สุดให้กับนักท่องเที่ยว พร้อมกับสร้างคนเซ็ปต์จุดขายในธีม “Trendy C2 ภูมิภาคภาคกลาง” C2 หมายถึง C-แรก Create New Experienced เน้นการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ท้าทายมากขึ้น รวมถึงเสน่ห์ภาคกลางคือ C-สอง Charming of Central สามารถตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายมุ่งเจาะกลุ่มหลักคือ “นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่-Mellenail” ปัจจุบันโครงสร้างประชากรไทยมีเจน Y กับ Z อยู่เกินครึ่งของทั้งหมด

ตามโจทย์ภาคกลางได้รับ “เป้าหมายสร้างรายได้” ปี 2566 สถิตินักท่องเที่ยวในประเทศตามสถานการณ์ปกติปี2562 การท่องเที่ยวในประเทศมีผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 212 ล้านคน-ครั้ง ปี 2565 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย10 เดือนแรก ระหว่างมกราคม-ตุลาคม ปีนี้ มีผู้เยี่ยมเยือนแล้วถึง 200 ล้านคน-ครั้ง ขาดเพียงแค่ 12 ล้านคน ก็จะได้จำนวนนักท่องเที่ยวเท่าปีปกติแล้ว
ส่วนปี 2566 ปัจจุบันตั้งไว้เพียงให้กระตุ้นผู้เยี่ยมเยือนในประเทศไว้แค่ 80 % ของปี 2562 ทั้งที่ปี 2565 ทำได้เกือบเกินเป้าหมายไปแล้ว ดังนั้นจึงตั้งเป้าปีหน้าจะเพิ่มจากปี 2565 ขึ้นไปอีก 10 % แต่ตัวเลขดังกล่าวก็เป็น “ความท้าทาย” อย่างมาก เพราะคนไทยเลือกเดินทางเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ “ที่นั่งเที่ยวบินไปต่างประเทศ” กลายเป็นคนไทยใช้บริการเกิน 60 % มีเหลือให้นักท่องเที่ยวเอเชียเหลือที่นั่งเพียง 40 % เป็นอุปสรรคการนำเข้าต่างชาติเที่ยวไทยด้วย

เป้าหมายท่องเที่ยว“ภาคกลาง” ปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 62 ล้านคน-ครั้ง ปี 2566 จะต้องเพิ่มตามเป้าหมายใหญ่ทั้งประเทศอีก 10 % “ทำรายได้” รวมของภาคกลาง 118,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 30 % หรือคิดเป็น 65 % ของปี 2562 ปัจจุบันนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินเฉลี่ย 2,900 บาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ทำไว้ 2,384 บาท/คน/ทริป
ขณะนี้ ททท.ทั้ง 5 ภูมิภาคจะต้องพิสูจน์ว่า “ไทยเที่ยวไทย” การท่องเที่ยวในประเทศเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ตามที่ ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.มุ่งมั่นให้ทุกคนช่วยกันทำให้สัดส่วน นักท่องเที่ยวคนไทยกับต่างชาติให้ได้ถึง 50 ต่อ 50 %
ส่วนกลยุทธ์ส่งเสริมการขายท่องเที่ยวในประเทศเข้าสู่ภาคกลาง จะเน้น “สร้างพลังบวกผลิตเมนูประสบการณ์” 6 เมนูหลัก ได้แก่
เมนูที่ 1 เพิ่มพลังใจและศรัทธา ปลุกกระแสนักท่องเที่ยวตลาดหลักสายมูเตลู เลือกได้หลายเส้นทางมานำเสนอ เช่นลั่นระฆังแห่งความสำเร็จจังหวัดสุพรรณบุรี โดยให้สำนักงาน ททท.ไปพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้มากขึ้น
เมนูที่ 2 อิ่มอร่อย เพิ่มพลังกาย เป็นเรื่องเส้นทางอาหารหรือ gastronomy ในภาคกลางมีอย่างหลากหลาย เช่นจังหวัดเพชรบุรี ยูเนสโก้ประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์อาหารระดับโลก
เมนูที่ 3 เพิ่มพลังใจ เพิ่มพลังชุมชน ททท.แต่ละสำนักงานจะไปสร้างสรรค์สินค้าชุมชนซึ่งมีอยู่มากมาย ควบคู่กับเปิดเส้นทางเข้าถึงทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ
เมนูที่ 4 เพิ่มพลังกาย สายสปอร์ต ทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือเอาท์ดอร์ยอดนิยมขณะนี้เป็นการเล่น Surf กับ Sub Broad ในน้ำจืดซึ่งภาคกลางมีแหล่งน้ำมากมาย ไฮไลต์คือมหกรรมความสนุกเที่ยวเทศกาล Sub Festival จังหวัดกาญจนบุรี กลางเดือนพฤศจิกายนนี้

เมนูที่ 5 เพิ่มพลังสร้างสรรค์ เน้นเรื่องการท่องเที่ยวย้อนอดีตภาคกลางมีลักษณะเฉพาะกับภาพลักษณ์ซึ่งกาลเวลาไม่สามารถทำลายได้ ผนวกกับการเดินชมสตรีทอาร์ตต่าง ๆ เช่น จังหวัดราชบุรี อย่าง เส้นทางชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่และอื่น ๆ
เมนูที่ 6 เพิ่มพลังชีวิต ติดธรรมชาติ ภาคกลางมีสถานที่ท่องเที่ยวเดินป่า และตั้งแคมป์มากมาย เช่น อำเภอสวนผึ้งราชบุรี กาญจบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี และอีกหลายจังหวัด
แนวโน้มการท่องเที่ยวหน้าหนาวภาคกลางเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 โดดเด่น 2 เมนู คือ 1.เพิ่มพลังสร้างสรรค์การท่องเที่ยวถนนสายศิลปะตามจังหวัดต่าง ๆ ไฮไลต์ ใน “กรุงเทพมหานคร” ล่าสุดจัด Bangkok Street Arts ขึ้น บ่งบอกถึงการทำให้เมืองมีสุนทรียะทางศิลปะ เกิดความรื่นรมย์ทางการท่องเที่ยว กับเมนูที่ 6 ขณะนี้แคมป์ทั่วภาคกลางจองล่วงหน้าล้นทุกพื้นที่
ผอ.กิตติพงษ์ กล่าวว่า แผนการขายฉลองเทศกาลท่องเที่ยวปลายปีที่จะตอกย้ำถึงกรุงเทพฯ และเมืองไทยเป็น New Era หรือประเทศริเริ่มใหม่หลังสถานการณ์โควิด ไฮไลต์กระตุ้นด้วย 2 งานใหญ่ งานแรก NASATTA Light Festival Winter Illumination -เทศกาลแสดงไฟสวยงาม ที่ ณ สัทธา อุทยานไทย อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ครั้งแรกเมื่อททท.เข้าไปสนับสนุนการจัดเทศกาลมีนักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 20,000 คน ปีนี้จะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงมกราคม 2566
งานที่ 2 Neon Countdown 2022 จัดที่ สวนสนุกวันเดอร์ เวิลด์ กรุงเทพมหานคร เริ่ม 30 ธันวาคม 2565-1 มกราคม 2566 ทางผู้จัดยืนยันจะเป็นงานแสดงดนตรีอิเลคทรอนิกส์แดนซ์ และ EDM ขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในงานเตรียมเชิญศิลปินเบอร์ 1 ของ EDM Music Dance มาเมืองไทยต้อนรับเปิดศักราชใหม่วันที่ 1 มกราคม2566 คาดตลอดงาน 3 วัน มีคนเข้าร่วมเกินกว่า 60,000 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 20,000 คน
งานเทศกาลความสุขในจังหวัดอื่น ๆ ปลายปีนี้ทั่วภาคกลาง ก็มีหลากหลายไฮไลต์ที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คนท่องเที่ยวในประเทศอย่างคึกคัก เช่น งานอยุธยา ยอยศยิ่งกว่า มรดกโลก 2565 งานรถไฟลอยฟ้า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จ.ลพบุรี งานแก่งกระจาน มรดกโลก เฟสติวัล จ.เพชรบุรี งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจบุรี งานกินปลาทูแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม งานฮาล์ฟมาราธอน สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
ผอ.กิตติพงษ์ กล่าวว่า ภูมิภาคภาคกลางได้รับโจทย์ให้สร้างสินค้าท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับจุดขาย New Chapters ปี 2566 เตรียมทำ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการแรก “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” คอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้ทุกคนมองภาพประเทศไทยทุกวันเป็น “ไฮซีซัน” โดยจะมีดีลดี ราคาพิเศษ พร้อมกิจกรรมแปลกใหม่แต่ละพื้นที่ สามารถท่องเที่ยวได้ทุกวัน

โครงการ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” จะเข้ามาแทนที่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่กำลังจะสิ้นสุดลง เพื่อกระตุ้น 3 เพิ่ม คือ เพิ่มความถี่การเดินทาง เพิ่มการใช้จ่ายเงิน และเพิ่มวันพักเฉลี่ย และต่อสู้กับกำลังซื้อคนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศ ด้วยการนำดีลราคาพิเศษทั่วภาคกลางเพื่อให้คนหันมาเที่ยวทุกวัน โดยเฉพาะกลยุทธ์ทำความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเก็บ CODE ดีลราคาดีไว้เดินทาง เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 15 ธันวาคม 2565
โครงการที่ 2 “ท่องเที่ยวเมืองรอง” ปลุกกระแสจังหวัดอันดับรองทั่วภาคกลาง ใช้กลยุทธ์การจัดในรูปแบบ “อีเวนต์เล็ก ๆ มุมเล็ก ๆ แต่มูลค่ามหาศาล” เช่น อีเวนต์เทศกาลท่องเที่ยวงานแสดงไฟสวยงาม ของ ณ สัทธาอุทยานไทยจ.ราชบุรี สร้างกระแสดึงดูดคนได้จริง ผนวกเข้ากับใช้ช่องทางโซเชียล มีเดีย เป็นเครื่องมือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่นขนมเปี๊ยะบ้านปากบาง จ.สิงห์บุรี อร่อยที่สุดในเมืองไทย ต่อยอดการขายเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยววิถีชีวิตคนการสร้างอีเวนต์บวกกับเข้าสื่อออนไลน์จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในภาคกลางแปลงโฉมเมืองรองซึ่งเป็นแค่เมืองผ่านขยับขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักได้
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen