

- ปี’65 สัญญาณตลาดบวก ลุยจับคู่เมืองบูมทัวร์ CSR อนุรักษ์อันดามัน
- เผยรัฐบาลญี่ปุ่นปรับมาตรการผ่อนคลายการเดินทางออกต่างประเทศ
- ชี้รัฐบาลญี่ปุ่นปลดล็อกไทย ออกจากสีที่ต้องกักตัวแล้ว
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.จับมือกับญี่ปุ่น 2 หน่วยงาน คือเมืองเซ็นได ซิตี้ และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (โทโฮคุ) ทำพิธีลงนามทางออนไลน์ในหนังสือแสดงเจตจำนง ( LOI :Letter Of Intent) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 แล้วจะใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่วันนี้ – 15 มีนาคม 2570

ที่ผ่านมาทั้ง 3 ฝ่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศหรือ Two-Way Tourism ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ปี 2565 ททท.เล็งเห็นความเหมาะสมที่จะพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยสู่มิติใหม่ด้วยแนวคิด Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ตั้งเป้ากระตุ้นการเดินทางและฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย จึงพร้อมจะใช้โอกาสที่ดีหลังรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ Test & Go เดินหน้าส่งเสริมให้ไทยเจาะตลาดภูมิภาคโทโฮคุในญี่ปุ่นในพื้นที่จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น

ช่วงที่ผ่านมา ททท.กับ เซ็นได ซิตี้ และภูมิภาคโทโฮคุ ก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น 1.จัดงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าและการท่องเที่ยวของเมืองเซ็นได ซิตี้ และจังหวัดในภูมิภาคโทโฮคุ 2.จัดสัมมนาส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยผ่านบริษัทธุรกิจนำเที่ยวในเมืองเซ็นได ซิตี้ 3.ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในสนามบินนานาชาติเซ็นได และสถานีรถไฟเซ็นได (JR Station) 4.จัดงานเทศกาลไทย (Thai Festival) ที่เมืองเซ็นได ซิตี้
สำหรับ ททท. ได้ลงนาม LOI กับหน่วยงานในญี่ปุ่น ครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2549 โดยร่วมกับ เซ็นได ซิตี้ จังหวัดมิยากิต่อมาองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคโทโฮคุ ได้เข้าร่วมด้วย เมื่อปี 2555 ส่วนครั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม2565 เป็นการต่ออายุหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ครั้งที่ 4

โดยได้ทำพิธีลงนามผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 ตามเวลาประเทศไทย 13.00 – 13.30 น. ลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. นางคะซุโกะ โคริ นายกเทศมนตรีเมืองเซ็นไดและนายชิเกะรุ มัทสึกิ ประธานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคโทโฮคุ พร้อมทั้งมีสักขีพยาน 2 คน คือ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ และนายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท.
นายเสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ปี 2565 ตลาดท่องเที่ยวญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณเป็นบวกเรื่องการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย

สัญญาณแรก “รัฐบาลญี่ปุ่นปรับมาตรการผ่อนคลายการเดินทางออกต่างประเทศ” ช่วงนี้อาจจะเป็นสถานการณ์การเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนให้ได้
สัญญาณที่สอง “สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ Keidanren” เรียกร้องขอให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศไม่ได้รับความสะดวกหรือมีอุปสรรคข้อจำกัดค่อนข้างมาก ส่งผลให้ธุรกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในต่างประเทศได้รับผลกระทบด้วย ทำให้ภายในญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น
ส่วน “ประเทศไทย” ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปลดล็อกออกจากสีที่ต้องกักตัวแล้ว เพราะฉนั้นสัญญาณการเดินทางระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักอย่าง นักธุรกิจญี่ปุ่น นักเรียน นักศึกษา สามารถเดินทางตามมาตรการที่ผ่อนคลายได้แล้วเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป
ทำให้ขณะนี้มีบริษัทนำเที่ยวในญี่ปุ่นเริ่มเตรียมตัวทำการตลาดขายการท่องเที่ยวได้บ้างแล้ว เป็นผลจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลาย ททท.สำนักงานโตเกียวจึงประเมินสถานการณ์ไม่ช้าก็เร็ว หากสถานการณ์ดีขึ้นทางกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นพิจารณาปรับลดระดับการเตือนลง ก็จะสามารถทำโฆษณาขายแพกเกจท่องเที่ยวมาเมืองไทยได้ตามปกติ
ส่วน ททท.สำนักงานโตเกียว ได้เดินหน้าทำงานเชิงรุกมาตลอดเรื่องการเข้าเจรจากับทาง “เซนได ซิตี้” (Sendai City) จังหวัดมิยากิ และผู้แทนจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคโทโฮคุ หรือTohoku Tourism Promotion Organization นำมาซึ่งการลงนามข้อตกลง LOI ระหว่าง ททท.กับหน่วยงานข้างต้น ซึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮคุ) ของญี่ปุ่น 6 จังหวัด ประกอบด้วย 1. Akita 2. Aomori 3.Fukushima 4. Iwate 5. Miyagi (ศูนย์กลางทางการบินระหว่างประเทศอยู่ที่เมือง Sendai City) 6. Yamagata รวมทั้งพื้นที่เป้าหมายจะทำเพิ่มอีก 1 จังหวัด คือ Niigata

ททท.โตเกียว ตั้งเป้าหมายจะผลักดันให้เกิดการส่งเสริม แลกเปลี่ยน นักท่องเที่ยวระหว่างกันในพื้นที่ดังกล่าว ตามที่ททท.โตเกียว นำเสนอเรื่อง “การท่องเที่ยวเพื่อการฟื้นฟูแลการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นกับพื้นที่เกิดสึนามิในประเทศไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง
ระยะเริ่มต้นจะเน้นทำกิจกรรมในจังหวัดหลัก“ภูเก็ต” ซึ่งมีสนามบินนานาชาติเชื่อมการบินกับเมือง Miyagi (ศูนย์กลางทางการบินระหว่างประเทศอยู่ที่เมืองเซนได ซิตี้) หากญี่ปุ่นปลดล็อกในเชิงพื้นที่จะอาศัยความร่วมมือ LOI ที่ขยายผลผลักดันทำการตลาดท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนกันได้ด้วย
ส่วนการลงนาม LOI ครั้งนี้ ถือเป็นแผนที่เตรียมไว้รองรับ “การเปิดประเทศ” หากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ ททท.จะเสนอโครงการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนนำคนในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวกับภัยพิบัติสึนามิ เป็นจุดขายใหม่ นำนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการปลูกหญ้าทะเล ให้พะยูน หรือการทำความสะอาดชายหาดต่าง ๆ
รวมทั้งยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักเดินทาง นักเรียน และกลุ่มคนที่สนใจเดินทางมาไทยกับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ มาทำกิจกรรม ทั้งการเก็บขยะชายหาด ปลูกหญ้าทะเลอนุรักษ์พะยูน ดังกล่าว
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขอ “จับคู่เมือง” เพื่อเปิดการท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาประเทศไทยตามเกณฑ์มาตรฐานSeal Route รวมทั้งต้องใช้คู่มือปฏิบัติการเข้าเมืองหรือ SOP :Standard Operation Procedure ที่มีความใกล้เคียงกันด้วย
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza