

- ททท.เปิดเร่งขยับตลาดในประเทศใหม่ 4 เรื่อง “คนไทยเที่ยวหนัก-สินค้าขายดี-เอกชนจัดเต็มมาตรฐานบริการความปลอดภัย-ทัพใหม่ทัวร์ลิมิเต็ดเอดิชั่น”
- ลงทุนโปรเจกต์โดนได้ใจไทยและต่างชาติ สั่งลุยขาย 5 กิจกรรม Soft Power Tourism Booster Shot
- The Link Local to Global+Workation 100 เดียว+วิจิตร 5 ภาค+เที่ยวข้ามภาค 5 ภาค 5 ครั้ง
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปี2566 ได้ประชุมผู้บริหารและผู้อำนวยการในประเทศ 5 ภูมิภาค วางแผนปรับเป้าหมายใหม่ตลาดในประเทศ โดยประเมินสถิติปี 2565 ซึ่งมีจำนวน “ผู้เยี่ยมเยือน” เดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศมี 254 ล้านคน-ครั้ง เป็นนักท่องเที่ยวพักค้างคืน 144 ล้านคน-ครั้ง กับนักทัศนาจร 110 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 934,000 ล้านบาท เมื่อมาพิจารณาถึง“เป้าหมาย” รายได้ปี 2566 ในภาพรวมทั้งหมดตั้งไว้ 2.38 ล้านล้านบาท ตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท ตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท
ปี 2566 ตลาดในประเทศจึงน่าจะทำเกินเป้าหมาย “รายได้” 880,000 ล้านบาท กับ “จำนวนนักท่องเที่ยว” จะรักษาสถิติให้เท่าปีที่ผ่านมา 254 ล้านคน-ครั้ง ทางฝ่ายแผนได้กำหนดให้ทำจำนวน “นักท่องเที่ยวพักค้างคืน” 135 ล้านคน-ครั้ง แต่พยายามจะทำให้สูงเท่าปีที่ผ่านมา 144 ล้านคน-ครั้ง เพราะมีสัญญาณดีจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปี 2562 ช่วงสถานการณ์ปกติ 2.ภาครัฐผลักดันส่งเสริมผ่านเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 เพื่อกระตุ้นการเดินทางระหว่าง 10 มีนาคม-30เมษายน นี้ ผนวกการสนับสนุนงบประมาณกลางเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาเสริมตลอดปีนี้

กลยุทธ์การ “เพิ่ม” รายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศปี 2566 ได้ถอดบทเรียนพร้อมกับรับฟังจากทุกฝ่ายถึง
ส่วนที่ 1 อัตรการเติบโตของนักเดินทาง ทำเชิงรุกด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ กับพันธมิตรเก่าและใหม่ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางในพื้นที่ต่อเนื่องทั้ง งานประเพณี เทศกาลดนตรี กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้เกิด“ความถี่และวันพักค้างคืน” อย่างชัดเจนมีรายได้มากขึ้นจริง
ส่วนที่ 2 สินค้าและแหล่งท่องเที่ยวได้เน้นตอบโจทย์ประสบการณ์ความประทับใจ ทำร่วมกับกระทรวงคมนาคมเพิ่มการเข้าถึงแหล่งและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างสะดวกสบาย รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรหน้าใหม่ในด้านอื่น ๆ ด้วย
ส่วนที่ 3 ร่วมกับกรมการท่องเที่ยวสร้างมาตรฐานการบริการ และความปลอดภัยด้านสาธารณสุข โดยเข้ามาเสริมเติมเต็มให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมทั้งได้นำมาตรฐาน SHA -Safty and Health Administration เข้ามาใช้เป็นหลักปฏิบัติร่วมอยู่ด้วยทุกส่วน
ส่วนที่ 4 จัดทำโครงการท่องเที่ยวเสริมเติมเต็ม เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ปี 2566 การเดินหน้าปีท่องเที่ยวไทย-Visit Thailand Year 2023 ต้องเป็นมิติ “การท่องเที่ยว ลิมิเต็ด เอดิชั่น” ประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ

เรื่องแรก การลงทุนทำแต่ละโครงการจะต้องโดนใจทั้งนักท่องเที่ยวพักค้างคืนและนักทัศนาจร
เรื่องที่สอง ทำโครงการให้ตอบโจทย์เมื่อทั่วโลกเปิดประเทศแล้ว คนไทยยังนิยมเที่ยวเมืองไทยไปกับโครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน โดยระดมสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าของที่ระลึก และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้ามาร่วมทำมหกรรมดีลดี ๆ วางขายดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย
นางสาวฐาปนีย์กล่าวช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ตลาดในประเทศจะเร่งทำ 5 กิจกรรม ได้แก่
กิจกรรมที่ 1 Soft Power Tourism Booster Shot เป็นมหกรรมส่งเสริมการขายซอฟท์ เพาเวอร์ เน้นเรื่อง อาหารแฟชั่น แคมเปญออนไลน์ ไฮไลต์ในเดือนเมษายนนี้ จะเปิดตัวยิ่งใหญ่ปีท่องเที่ยวไทยด้วย “Year of Thai Gastronomy” ผสมผสานระหว่างอาหารสู่มิชลินสตาร์และอาหารชาววัง (Royal Cruisine) ส่วน “ออนไลน์แคมเปญ” ชูการแต่งกายแต่งไทยไปเที่ยว รวมทั้งมวยไทยจาก Fight ก็ขยายเป็น Fit&Firm ต่อด้วย Film Location
กิจกรรมที่ 2 The Link Local to Global จะยกระดับมาตรฐานบริการทุกภูมิภาค ส่งเสริมการขายร่วมกันเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาจัดทำโครงการสิงห์เหนือพบเสือใต้ ก่อให้เกิดความต้องการขายและการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภาคสูงขึ้น

ปี 2566 วางแผนเดินหน้าเชื่อมโยง The Link Local to Local จะจับในประเทศระหว่างจังหวัดแฝด 8 คู่ 16 จังหวัดได้แก่ 1.เชียงใหม่-เพชรบุรี 2.อุดรธานี-พัทยา 3.อยุธยา-สุโขทัย ชูขายท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์4.นครศรีธรรมราช-นครพนม 5.ตราด-น่าน 6.สุราษฎร์ธานี-สุรินทร์ 7.ประจวบคีรีขันธ์-แพร่ 8.บุรีรัมย์-ภูเก็ต
ส่วน The Link Local to Global จังหวัดในเมืองไทยพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองกับเชื่อมกับต่างประเทศตลาดหลักและรองด้วยเช่นกัน ได้แก่ 1.สาธารณรัฐประชาชนจีน-สงขลา 2.มาเลเซีย-กระบี่ 3.กรุงเทพฯ-อิตาลี
กิจกรรมที่ 3 Workation 100 เดียว เที่ยวได้งาน เพื่อนำมาปิดจุดอ่อนการท่องเที่ยววันธรรมดา (วันจันทร์-พฤหัสบดี) โดยจะเปลี่ยน “วันธรรมดาท่องเที่ยวได้” สามารถทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้ Work from Anywhere เตรียมเปิดโครงการนี้เดือนเมษายนนี้ เพื่อกระตุ้นเป้าหมาย 2 ตลาดหลัก คือ พนักงานภาครัฐ กับบริษัทคอร์ปอเรตขนาดใหญ่ที่มีพนักงานตามเครือข่ายสาขาจำนวนมาก
ททท.จะขยายการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ช่วโควิด-19 ทำ ซีซัน 1 Workation Paradise thougout Thailand รวมถึงก่อนหน้านี้จัดแคมเปญสะสมแต้มเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยร่วมกับเอกชนส่งเสริมกระตุ้นให้คนออกเดินทางใช้สถานที่ต่าง ๆ ทำงานได้ ซีซัน 2 ปีนี้ มีเป้าหมายชัดเจนพุ่งเป้ากระตุ้นกำลังคนภาครัฐ ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีอยู่กว่า 2 ล้านคน จะทำโปรโมชั่นราคาพิเศษ ราคา 100 บาท ซื้อก่อนได้สิทธิ์ก่อน รถเช่า ร้านอาหาร โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว นำเสนอเจาะกลุ่มผู้ที่จะเลือกไปทำงานนอกสถานที่ หากผู้ประกอบการต้องการเพิ่มยอดคอร์ปอเรต จะชูขาย Worakation 100 เดียวเที่ยวได้งาน
กิจกรรมที่ 4 วิจิตร 5 ภาค แต่ละภาคจะต้องจัดไม่น้อยกว่า 7-9 วัน/งาน หลังประสบความสำเร็จจากโครงการ “วิจิตรเจ้าพระยา” ที่จัดเมื่อช่วงการประชุมเอเปค 2022 จึงได้นำต้นแบบมาขยายผลให้ ททท.ทั้ง 5 ภูมิภาค ดีไซน์จุดขายความวิจิตรเริ่มเดือนเมษายนนี้ กำหนดพื้นที่จัดงานหลัก คือ “ภาคเหนือ” จ.เชียงราย “ภาคอีสาน” จ.นครพนม “ภาคใต้” จ.สงขลา “ภาคตะวันออก” จ.ระยอง “ภาคกลาง” จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะนำเสนอการท่องเที่ยวเลิศหรูอลังการ
สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยวจะเน้น “เพิ่มวันพักค้าง” โดยดีไซน์แต่ละงานให้โดดเด่นยามราตรี มี “แสง สี เสียง” แบบจัดเต็ม โดยใช้แหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์ของภาคซึ่งอาจจะแตกต่างกันไป ด้วยการนำเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจคนเข้าไปเที่ยวสร้างรายได้ให้มากที่สุด พร้อมทั้งนำอัตลักษณ์ชุมชนมามีส่วนร่วมสร้างรายได้ด้วย
กิจกรรมที่ 5 เที่ยวข้ามภาค 5 ภาค 5 ครั้ง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช ระยอง ส่งเสริมต่อยอดความสำเร็จโครงการ Amazing Thailand เที่ยวข้ามภาค อะเมซิ่ง ยิ่งกว่าเดิม ไปแล้ว ตอนนี้ผู้อำนวยการแต่ละภูมิภาคกำลังเตรียมออกแบบการจัดมหกรรมส่งเสริมการขายเต็มรูปแบบ
นางสาวฐาปนีย์กล่าวว่า ปี 2566 การสร้าง “รายได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ฐานเดือนมกราคมมีนักท่องเที่ยว 23 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 85,000 ล้านบาท ถือเป็นเดือนแห่งการท่องเที่ยว ประเมินจากอัตราการพักเฉลี่ยเกินกว่า 71 % ระยะพำนัก 2.24 วัน ดังนั้นไตรมาส 2 และ 3 จะต้องทำยอด “จำนวนผู้เยี่ยมเยือน” ให้ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 25 ล้านคน-ครั้ง ส่วน “รายได้” ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80,000 ล้านบาท และ “อัตราพักเฉลี่ย หรือ OR :Occupacy Rate” ต้องไม่ต่ำกว่า 70 % และ “วันพักเฉลี่ย” 2.3-2.4 วัน/คน/ทริป ซึ่งจะต้องสูงกว่าปีที่ผ่านมาทำไว้ 2.22 วัน/คน/ทริปด้วยการจัดกิจกรรมตอบโจทย์การท่องเที่ยวข้ามภาค

สิ่งที่จะต้องทำคือ “ร่วมกับสายการบิน” ตอนนี้เที่ยวบินในประเทศมีประมาณ 268 เที่ยว/วัน ททท.ต้องการเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพิ่มทั้งเมืองหลักและเมืองรอง สถิติเดือนมกราคมมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารทำได้สูงถึง 88 % เมื่อลงมือทำกิจกรรมเร่งท่องเที่ยวผ่าน Tourism Booster Shot ระหว่างเมษายน-กันยายน 2566 ตั้งเป้าจะผลักดันผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศมีอัตราบรรทุกเฉลี่ยเกินเดือนละ 85 %
นอกจาก 5 กิจกรรมหลักแล้ว ททท.แต่ละภูมิภาคเตรียมจัดกิจกรรมย่อย ๆ เสริมเข้ามาด้วย เช่น “คอนเสิร์ตหมอลำเสียงอีสาน” เป็นไฮไลต์กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวข้ามภาคเข้าสู่ภาคอีสาน วางแผนจัดต่อเนื่องถึง 10 ครั้ง โดยจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่พื้นที่แรก “จังหวัดสุรินทร์” วันที่ 11 มีนาคม นี้ และจัดต่อเนื่องให้ครบ 10 ครั้ง ภายในเดือนเมษายน 2566