

- ททท.ยกเครื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก้าวสู่เทรนด์ “Digital Tourism”
- ระดมข้อมูลผนวกเทคโนโลยีใหม่ นำ “ผลวิจัย” สแกนหาตลาดอินเตอร์ได้ตรงเป้า ติดอาวุธการตลาดดิจิทัล
- บุกโกย 4 กลุ่มคุณภาพ “Digital Nomad+Remode Worker+Wedding/Honeymoon+Silver Age”
- รุกใช้กลยุทธ์ฝึกอบรมบุคลากรท่องเที่ยวเสริมแกร่งเครื่องมือใหม่เหนือคู่แข่ง
- ชิมรางเปิดพื้นที่เว็บไซต์ ททท. กับ Line มีผู้ติดตามรวมกว่า 8 ล้านคน ให้เอกชนใช้ฟรี ปี 65-66
- ขปูพรมปลุกทั่วโลกเที่ยวไทยผ่านโลกเสมือนจริง Metaverse และ Virtual รู้ลึกเข้าใจจริงก่อนบินเที่ยวไทย
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัยและพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำแผนนำดิจิทัล วิจัยและพัฒนา เข้ามาเป็นเครื่องมือพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ในจังหวะที่ไทยกำลังเปิดประเทศต้อนรับนักเดินทางทั่วโลก โดยได้จับมือกับหลายหน่วยงานเตรียมความพร้อมร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยกันหันมาร่วมกันถอดบทเรียนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การตลาดปัจจุบันก้าวสู่ดิจิทัลมากขึ้น ก้าวไปสู่ Digital Tourism

ตลอดปี 2565 เป็นต้นไป ททท.จะเร่งเพิ่มศักยภาพการทำงานอย่างเต็มที่เบื้องต้น 2 เรื่อง ได้แก่เรื่องที่ 1 ข้อมูลต่าง ๆเพื่อประเมินดีมานต์หรือจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม มีพฤติกรรมความต้องการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวประเภทใด กลุ่มตลาดไหนมีศักยภาพพร้อมจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว เรื่องที่ 2 ดึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุน ทั้งที่มีอยู่ต้องอัพเกรดให้มีความพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเทคโนโลยีใหม่กำลังพัฒนาได้รับความสนใจเข้ามาสนับสนุน ควบคู่ 2 ภารกิจ
ภารกิจแรก นำ “ข้อมูลวิจัย” เข้ามาใช้ค้นหาตลาดนักท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ 4 กลุ่มคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 Digital Nomad ใช้ชีวิตเดินทางกับท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน

กลุ่มที่ 2 Remote Worker กลุ่มคนทำงานทางไกล ตอนนี้มีการแชร์กันในโลกโซเชียลว่า “ไทย” เป็นประเทศจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของทั้งสองกลุ่มนี้ซึ่งเป็นสายดิจิทัลที่เลือกใช้เมืองท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ทำงานไปด้วย โดยนิยมในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะทางใต้ พะงัน สมุย ภูเก็ต หรือทางเหนือ เชียงใหม่
สำหรับนักเดินทางท่องเที่ยวพร้อม ๆ กับทำงานทางไกลทั้งสองกลุ่มดังกล่าว แต่ละทริปใช้จ่ายเงินค่อนข้างสูง เพราะจองพักต่อเนื่องเป็นเวลานาน แล้วยังช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทยไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ด้วย
กลุ่มที่ 3 Wedding & Honeymoon คู่รักและแต่งงาน ตลาดมาแรงคือ “อินเดีย” กำลังทยอยเดินทางเข้ามาใช้สถานที่แต่งงานในไทยเป็นจำนวนมาก
กลุ่มที่ 4 Silver Age ผู้สูงวัย จะเป็นผู้เกษียนจากต่างประเทศอยากเดินทางมาใช้ชีวิตสบาย ๆ หรือบางกลุ่มก็หนีหนาวมาพักผ่อนในไทย

ภารกิจที่สอง -ททท.มุ่งฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆต้องหยุดกิจการช่วงสถานการณ์โควิดเป็นเวลานานกว่า 2 ปี เมื่อกลับมาเปิดบริการอีกครั้งเอกชนส่วนใหญ่ต้องการอัพเดทแนวโน้มใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ดิจิทัลท่องเที่ยว และปัจจัยเอื้อกับการสนับสนุน มีอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องการจะฝึกอบรมและเรียนรู้งานโดยเฉพาะเกี่ยวกับการใช้“โซเชียล มีเดีย” ซึ่งเดิมอาจมองเป็นเพียงการสื่อสารกันเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสามารถช่วยสนับสนุนและการขายเชิงธุรกิจเพิ่มรายได้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างทั่วถึง เช่น facebook , Instagram TikTok Line
อีกเรื่องคือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Metaverse, NFT, Web 3.0 ขณะนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ ยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบ Smart City โดยมีหลายพื้นที่พยายามขับเคลื่อนแล้ว ททท.จึงต้องการให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้อย่างเหมาะสม
นายนิธี กล่าวว่า ททท.ได้นำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว 2 ช่องทางที่มีผู้ติดตามรวมกว่า 8 ล้านคน ได้แก่ Website ผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน และLine official มีผู้ติดตาม 6 ล้านคน ททท.เปิดให้ใช้พื้นที่ฟรีด้วยการปรับจากเดิมเคยใช้เป็นเพียงช่องทางแนะนำข้อมูลต่าง ๆ ขณะนี้ขยายผลโดยเปิดให้เอกชนท่องเที่ยวได้ใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ นำเสนอขายสินค้าท่องเที่ยวได้ด้วย เช่น ทำโปรโมชั่นขายแพกเกจท่องเที่ยว โดยททท.จะรวบรวมทำแคมเปญ แทนแพลตฟอร์มออนไลน์ การเปิดช่องทางสื่อเหล่านี้สามารถช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวทำแคมเปญขายแพกเกจ ทำให้เข้าถึงตลาดเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
นอกจากนี้ ททท.ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์เครือข่ายพันธมิตร เช่น Lazada ซึ่งมีเซกชั่นท่องเที่ยวขายด้วย จึงได้เปิดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการขายทางออนไลน์ แล้วขอให้ทาง Lazada เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้บริการฟรี ช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะช่วงแรกการส่งเสริมการขายผ่านเครื่องมือของททท.ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
นายนิธี กล่าวว่า ททท.ยังมีพันธมิตรในเครือข่าย Metaverse การสร้างโลกเสมือนจริงส่งเสริมการท่องเที่ยว อาจจะเตรียมพร้อมกลุ่ม Virtual Influencer สร้างผู้มีอิทธิพลในโลกเสมือนจริงขึ้นมา และ กำลังคุยกับทางแพลตฟอร์ม T-Verse ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้พื้นที่ฟรีกับ ททท.นำไปจัดแคมเปญ เปิดบูธให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมทั้งนำ Virtual Tour, Virtual Guide เพื่อให้โรงแรม บริษัท ทั่วประเทศ ได้ใช้กล้อง 360 องศา นำโลกเสมือนจริงไปใช้ประกอบการขาย ซึ่งอาจจะเริ่มได้ตั้งกลางเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
วิธีให้บริการผ่าน Virtual ในระบบ Metaverse ก็เพื่อเปิดช่องทางให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังเดินทางมาไทยไม่ได้เข้าไปใช้โลกเสมือนจริงสำรวจห้องพักตามโรงแรมต่าง ๆ หรือ เส้นทางท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ อาจจะเป็นข้อมูลที่สนใจเบื้องต้นในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ททท.กับผู้ประกอบการก็ช่วยกันทำ “โปรโมชั่น” ดึงความสนใจให้คนมาเที่ยว โดยอาจจะแจก E-Vochure ,E-Gift, Token เหรียญดิจิทัล แม้กระทั่งคูปองอิเลคทรอนิกส์ที่สามารถดาวโหลดมาใช้จริงได้
นายนิธี กล่าวเพิ่มถึงแผนปี 2566 ทางฝ่ายดิจิทัล วิจัยและพัฒนา ได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ จะต้องเพิ่มสูงกว่าปี 2565 โดยจะเน้น “ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยว ในฝ่ายดิจิทัลจะเน้นขยายผลการใช้เครื่องมือเข้ามาเพิ่มแรงส่งการตลาดดิจิทัล แล้วนำข้อมูลมาประมวลส่งเสริมตลาดและการขาย พุ่งเป้าไปยัง 1.กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ 2.กลุ่มท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม RT -Responsible Tourism 3.กลุ่มท่องเที่ยวตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพ Health Conciousness
ส่วนโครงการในส่วนของ Metaverse จะต่อยอดเพิ่มด้วย โดยจะมีพื้นที่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ทั้งการเปิดเป็นพื้นที่กลางให้เอกชนใช้ทำการเจรจาธุรกิจในลักษณะ B to B -Business to Business และการขายท่องเที่ยวให้กับผู้บริโภคทั่วไป B to C -Business to Consumer และ ผู้ขายพบผู้ซื้อกับต่างประเทศในแบบ Virtual Travel Mart รวมทั้งจะช่วยผู้ประกอบการในชุมชนด้วยการเปิดกว้างโดยใช้โลกเสมือนจริงเข้ามาใช้ให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันการนำ Metaverse มาใช้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทย ก็ต้องปลดล็อกอุปสรรคปัญหา 3 เรื่องหลัก
เรื่องแรก คือ Mindset หรือกรอบความคิด เพราะปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จริงมีมากมายหรือ Big Data ททท.เป็นหน่วยงานการตลาดต้องพยายามเข้าใจลูกค้าด้วย จึงต้องดึงข้อมูลดิจิทัลเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ หากผู้ประกอบการพร้อมปรับตัว ททท.ก็พร้อมอำนวยความสะดวก
เรื่องที่ 2 การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพราะดิจิทัลเน้นเรื่องความเร็ว การสื่อสาร ทำงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่ 3 เพิ่มความรู้เพื่อดึงข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ และเพิ่มความล้ำสมัยทางการแข่งขันทางการตลาด นำเครื่องมือที่มีความพร้อมมาใช้แข่งขันกับคู่ต่อสู้ได้มากขึ้น ลดความสิ้นเปลืองการใช้เงินสด(cashless) ลดเอกสารกระดาษได้มากมาย และลดความผิดพลาดได้น้อยลงด้วย
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen