ททท.ควงมิชลินไกด์เปิด “คู่มือใหม่มิชลินอีสาน” 4 จังหวัดปี’66 “โคราช-ขอนแก่น-อุบล-อุดร” บูมวัฒนธรรมอาหารโกยท่องเที่ยว



  • ลุยสำรวจร้านอาหารประกาศรายชื่อปลายปีนี้
  • นำจุดขาย “อาหารและวัฒนธรรม” แหล่งวัตถุดิบอาหารชั้นเลิศของไทยขึ้นชั้นระดับโลก
  • สร้างแม่เหล็กดึงดูดคนไทยและทั่วโลก แห่ใช้เงินบูมท่องเที่ยวอนาคต

นายเกว็นดัล ปูลเล็นเนค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก เปิดเผยว่า ได้เลือก 4 เมืองตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และ ขอนแก่น ที่จะสะท้อนอัตลักษณ์อาหารอีสานที่โดดเด่นและมีรสชาติจัดจ้าน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยผู้ตรวจสอบของมิชลินประทับใจในอาหารอีสานที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นและรสชาติจัดจ้าน ซึ่งแม้จะใช้วิธีการประกอบอาหารที่เรียบง่ายไม่ว่าจะเป็นการต้ม, ย่าง, นึ่ง หรือตุ๋นด้วยไฟอ่อน (Slow Cooking) แต่กลับให้รสชาติที่ลึกซึ้งและซับซ้อน  

ทั้งยังมีเทคนิคการถนอมอาหารที่ถือเป็นจุดเด่นของอาหารอีสานและแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการหมักดองปลาและผักตามฤดูกาลให้สามารถเก็บไว้ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้นานขึ้น โดยมีเครื่องปรุงรสพื้นฐานในครัวอีสานอย่าง “ปลาร้า” ที่ทำจากการนำปลาในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและข้าว เป็นวัตถุดิบยอดนิยมที่ใช้ใส่ในอาหารและน้ำจิ้มต่างๆ แทบทุกจาน ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี2555

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา  ททท. มุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยบนเวทีโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมอาหาร ทุกปีในคู่มือจะมีร้านอาหารเพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจพื้นที่ใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยเพื่อค้นหาร้านอาหารที่ดีที่สุด อีกส่วนเพราะร้านอาหารต่างพยายามพัฒนาคุณภาพและบริการเพื่อให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของ ‘มิชลิน ไกด์ ซึ่งช่วยให้เกิดการรับรู้และสร้างกระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นวงกว้างมากขึ้นทั้งคนไทยและต่างชาติ

เมื่อเปรียบเทียบคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ฉบับปฐมฤกษ์ ปี 2561 กับฉบับล่าสุดปี 2565 ใน 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

1.มีร้านอาหารทั้งหมดเพิ่มจาก 126 ร้าน เป็น 361 ร้าน ในจำนวนนี้ได้รับ “ดาวมิชลิน” เพิ่มขึ้นจาก 17 ร้าน เป็น 32 ร้าน และได้รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จาก 35 ร้าน เป็น 133 ร้าน

2.ขอบเขตพื้นที่เข้าไปคัดสรรและจัดอันดับร้านอาหารแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คู่มือฉบับปี 2561 ครอบคลุมเฉพาะเขต กรุงเทพฯ ล่าสุดปี 2565 ครอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา

ผู้ว่ายุทธศักดิ์ กล่าวว่า คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ภาคอีสาน’ คัดสรรทุกอย่างมามอบให้นักเดินทางทุกวัยสามารถเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวหลากรูปแบบ ตามตัวอย่างดังนี้

1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในครราชสีมา ซึ่งทางองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกทางธรรมชาติ

2.อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

3.แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

4.พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

อีกทั้งภาคอีสานยังมีสินค้าท่องเที่ยวเชิงอาหารและหัตถกรรมที่โด่งดังมากมาย ที่นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากถึง 34 รายการ

ดังนั้น คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประจำปี 2566 ที่กำลังเตรียมเผยแพร่ปลายปี 2565 จะทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงบรรยากาศโดดเด่น-v’อาหารภาคอีสาน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ด้วย

สามารถหาข้อมูลคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ เพิ่ม ได้ที่: guide.michelin.com/th/th หรือติดตาม ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทยฉบับประจำปี 2566 ได้ทางเฟซบุ๊ค: facebook.com/MichelinGuideThailand

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ทางมิชลิน ไกด์’ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมแถลงข่าวการขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหารเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ “ภาคอีสาน” ภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทยครอบคลุม 20 จังหวัด เพื่อจัดคู่มือมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ประจำปี 2566 ฉบับที่ 6 ของไทยมีกำหนดเผยแพร่ปลายปี 2565 นี้ ที่จะสะท้อนอัตลักษณ์อาหารอีสานที่โดดเด่นและมีรสชาติจัดจ้าน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลายของทั้ง 4 จังหวัด

สำหรับ “อาหารอีสาน” มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรเขมรโบราณ รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สสป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน  ในภาคอีสาถือเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพสูง ทั้งข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลกและข้าวเหนียว  อาหารอีสานส่วนใหญ่จะไม่ใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบเนื่องจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ไม่ติดกับทะเลหรือมหาสมุทร แต่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำแม่โขง จึงมีปลาน้ำจืดจำนวนมากให้เลือกใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารรสชาติดีหลากหลายเมนูที่ได้รับความนิยม

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen