“ถาวร”เปิดโปงทุจริตการบินไทยเหตุทำขาดทุนบักโกรกชงป.ป.ช.สอบต่อ

“ถาวร” เผยผลสอบข้อเท็จจริงเหตุการบินไทยขาดทุนหนักกว่าหมื่นล้านบาท พบมีการบริหารงานผิดพลาด-โยงถึงผู้บริหารระดับสูงหลายสิบคนตั้งแต่ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สูงถึงรักษาการดีดีทุจริต มีการตั้งกองทุนแบ่งค่าแบ่งผลประโยชน์จากการขายตั๋วโดยสาย เตรียมส่งผลสอบถึงมือนายกรัฐมนตรี-ปปช.-ปปท. ภายในจันทร์นี้

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงผลตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการที่ทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ประสบปัญหาการขาดทุนของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตั้งแต่ ปี 60-62จนกระทั่งการบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ 22 พ.ค.63 ที่ผ่านมา และเมื่อพ้นสภาพทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นว่าทางคณะทำงานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่มีอำนาจทางกฎหมายจึงสิ้นสุดการตรวจสอบพบว่า มีผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ตั้งแต่ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จนถึงระดับรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี)การบินไทยมีส่วนในการทุจริตทำให้การบินไทยขาดทุนเป็นหมื่นล้านบาท  ดังนั้นตนในฐานะที่มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงได้สรุปผลสอบสวน และจะมีการเสนอผลสอบสวนให้ นายกรัฐมนตรี.,คณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)ในวันจันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้

ทั้งนี้จากผลสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่าการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 51จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้การบินไทยขาดทุน ไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท จากการขาดทุนในทุกเส้นทางบิน ตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-นิวยอร์ก ในเดือนก.ค.48 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 56  โดยเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. การบินไทยไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมติ ครม. 2.ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 245 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้ออะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย และ 3.มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลาง ให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และ พนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบิน  10 ลำดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังพบการบริหารงานที่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง โดยระหว่างปี 60-62 การบินไทยขาดทุนรวม 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงมากเช่น ค่าโอที ที่มีการเบิกเกินความเป็นจริง , การบริหารงานผิดพลาด เช่น การเช่าเครื่องบิน B787-800 จำนวน 6 ลำ โดยแต่ละลำราคาไม่เท่ากันโดยมีส่วนต่างถึง 589 ล้านบาท , มีการจ่ายค่าชดเชยคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่นA330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท , มีรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ เดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือนเพิ่มเป็น 600,000 บาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา นอกจากนี้ยังมีการบริหารงานผิดพลาดและส่อทุจริต ในหลายๆ แผนกของการบินไทย เป็นต้น โดยระบุว่า ข้อมูลมีผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย หลายสิบคนมีส่วนเกี่ยวข้อง  

ขณะเดียวกันพบว่า ในปี 60-62 สายการพาณิชย์ไม่มีการจัดทำงบประมาณ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองโดยผ่านบอร์ดบริษัทเท่านั้น และมีการขายตั๋วโดยสารในราคาต่ำมาก เฉลี่ยใบละ 6,081 บาท แต่มีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบินเกือบ 80%  และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน แต่กลับมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร 149,000 ล้านบาท สาเหตุจากการเอื้อประโยชน์ใหักับตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร และผู้บริหารสายการพาณิชย์ได้แต่ตั้งบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปในต่างประเทศ(AA) และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่าตอนแทนพิเศษ(Incentive) ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA ส่งรายได้จำนวน 10% ของค่าอินเซนทีฟ เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ 

“การตรวจสอบนี้จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไข ไม่มีการกลั่นแกล้งใคร และการทำงานชิ้นนี้ใช้เวลา 43 วัน ใช้คน33 คน รวมท่านเลขา มีความตั้งใจดีมากกับองค์กร และบอกได้เลยว่าคนในองค์การเดินเข้ามาแสดงความของคุณ โทรศัพทย์และส่งสัญญาณมาขอบคุณ  เรื่องนี้พนักงานเขานั่งดูอยู่นานแล้ว ไม่รู้จะไปพูด ไปบอกกับใคร โดยในช่วงเวลา 43 วัน  มีคนเดินเอาข้อมูลมาให้ถึง 100 คน ไม่ใช่เรื่องธรรมดา อยากจะทำต่อแต่หมดอำนาจแล้ว เรื่องนี้ส่งให้ ปปช ผู้มีอำนาจเต็มไปดำเนินการต่อ”นายถาวร กล่าว