ถอด 5 บทเรียน 5 ทำทุเรียนคุณภาพภาคตะวันออกด้วย “จันทบุรีโมเดล”

กระทรวงเกษตรฯ เปิด 5 ขั้นตอนความสำเร็จ การควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออกด้วย “จันทบุรีโมเดล” ป้องกันการสวมสิทธิ์ GAP ทุเรียนไทยส่งขายต่างประเทศ

  • จัดระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพให้เข้มข้น
  • ใช้เป็นโมเดล ในการควบคุมคุณภาพทุเรียน
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและผู้บริโภค

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหานี้ว่า ได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และ การสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี

ดังนั้น จึงเห็นควรให้ร่วมกันในการถอดบทเรียนความสำเร็จทุเรียนภาคตะวันออก จาก ” จันทุบรีโมเดล” เพื่อยกระดับจัดระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และใช้เป็นโมเดล ในการทำงานควบคุมคุณภาพทุเรียน แก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ

สำหรับ “จันทบุรีโมเดล” ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การเตรียมความพร้อมในระดับจังหวัดและส่วนกลาง

ระดับจังหวัด ประชุมหารือและบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการที่จะมาใช้ในพื้นที่ โดยมีประกาศจังหวัดจันทบุรี อาทิ เรื่องกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 เรื่องกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน เรื่องขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดของจังหวัดจันทบุรี เรื่องการขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน และแต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนตัด) ตลอดจนการเข้าตรวจก่อนตัด (ตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนตัด) ในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566
ส่วนกลาง ระดับกระทรวง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ระดับกรม กรมวิชาการเกษตร ออกคำสั่ง/ประกาศ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงาน ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

  1. กำหนดมาตรการ 4 มาตรการ ประกอบด้วย

มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน)
การขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน
มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ)
มาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดในประเทศ (ค้าส่ง-ค้าปลีก)

  1. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ และบุคคลทั่วไป
  2. จัดประชุมอบรมผู้เกี่ยวข้อง ประชุมเจ้าหน้าที่ คณะทำงาน และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ พัฒนาทักษะ Q.C โรงคัดบรรจุ และนักคัดนักตัด
  3. ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงาน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพป้องกันปัญหาผลผลิตทุเรียน และมังคุด (War Room) เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน และรายงานสถานการณ์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานควบคุมคุณภาพทุเรียน และลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน

ขณะนี้มูลค่าการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.66 – 13 ก.ค.66 รวมการส่งออก 45,775 ชิปเมนต์ ปริมาณ 765,985.95 ตัน มูลค่า 99,390.68 ล้านบาท และ ตั้งเป้าให้ถึง 2 แสนล้านบาทภายในปี 2566 นี้ โดยเชื่อมั่นว่าทุเรียนภาคตะวันออก เป็นทุเรียนมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานส่งออก มีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดจีนรวมไปถึงตลาดทั่วโลกได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและผู้บริโภค พร้อมทั้งมอบหมายให้ที่ประชุมศึกษาแนวทางการจัดทำแอปพลิเคชันมาใช้ควบคุมการผลิตทุเรียน โดยพิจารณาถึงกฎหมาย ระเบียบอย่างรอบคอบ