“ตลาดของเล่น” ปรับแผนชู “ร้านค้าเคลื่อนที่” ปั๊มยอดขายหนีวิกฤติโควิด-19



  • เผยภาพรวมตลาดของเล่น เริ่มชะลอตัวจากโควิด-19
  • ส่งผลพ่อ-แม่ ลดปริมาณการซื้อของเล่นชั่วคราว
  • ด้านศูนย์การค้า ปรับแผนใหม่ จัดพื้นที่รองรับ “ป็อบอัพ” จากกลุ่มผู้เช่า

น.ส.ดาวสิริ ณ ถลาง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซิมบาทอยส์ (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า แบรนด์ ซิมบาทอยส์ ถือเป็นบริษัทผู้นำเข้าของเล่นสำหรับกลุ่มผู้ชาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งมีช่วงอายุประมาณ 20-45 ปี เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นโมเดลสำหรับสะสม ซึ่งตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงเดือนมี.ค.63 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ยอดขายเริ่มชะลอตัว ทางบริษัทจึงได้มีการปรับแผนการตลาดโดยนำกลยุทธ์ “ร้านค้า เคลื่อนที่” (Pop Up Retail) เข้ามาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำผลิตภัณฑ์และกิจกรรมไปจัดจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ

ทั้งนี้นอกจากร้านค้าเคลื่อนที่ Pop Up Retail แล้ว บริษัทยังมี Road Show Event ที่ยกทัพสินค้าแบรนด์ต่างๆ ไปจัดจำหน่าย ทำกิจกรรมแข่งราง และแสดงสินค้าทั่วเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อใกล้ชิดและสะดวกต่อการซื้อของลูกค้ามากขึ้นในทุกๆ เดือน ซึ่งในเดือนนี้ มีการจัดกิจกรรมการแข่งรางชิงแชมป์ถ้วยรางวัลและรวมพลคนรัก Cefiro A31 โดยมีการโมดิฟายรถและจัดโชว์ เพื่อชิงถ้วยรางวัลเช่นเดียวกัน ไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ ศูนย์การค้า ธัญญาพารค์ ศรีนครินทร์

ด้านนายรุ่งฤทธิ์ ธีระบุญชัยกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด กล่าวว่า สำหรับแบรนด์ นิชิเวิร์ล (Nichiworld) เป็นผู้แทนจำหน่ายของเล่นชั้นนำในประเทศไทย มีสถานที่จัดจำหน่ายหลักคือโซนของเล่นในศูนย์การค้าชั้นนำทั่วประเทศไทย ซึ่งก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ทางการตลาดอย่างใกล้ชิดแบบรายเดือน รายไตรมาส พบว่ากราฟทิศทางตลาดของเล่นในประเทศไทยอยู่ในจุดที่ลดลง การตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างกลุ่มผู้ปกครองมีการซื้อลดลง เพราะมองว่าของเล่นสำหรับบุตรหลานเป็นสิ่งจำเป็นรองลงมาในสถานการณ์เช่นนี้

ทั้งนี้จากการประเมินก็ยังพบว่า กลุ่มเป้าหมายรอง อย่างกลุ่มวัยทำงาน มีการซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บเป็นของสะสม ซึ่งบริษัทจึงได้เตรียมปรับแนวทางการตลาดของ 2P คือ “สินค้า” (Product) โดยมีการนำ เข้าและพัฒนาสินค้าให้เป็นประเภทของสะสมเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงของเล่น อีกทั้งยังได้เพิ่มลูกเล่นความสนุกให้กับสินค้าในลักษณะสินค้าแบบสุ่ม คือ การออกสินค้าเป็นคอลเลคชั่น การซื้อแต่ละครั้งต้องลุ้นว่าจะได้ของเล่นตัวใดไป

ต่อมาคือการปรับในเรื่องของ “สถานที่” (Place) สร้างสถานที่จำหน่ายรูปแบบใหม่ แทนการอยู่กับที่รอลูกค้าเข้ามาหา ด้วยการจัดคาราวานของเล่นไปยังสถานที่ต่างๆ หรือ Event troop ซึ่งมีข้อดีคือ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง สามารถเลือกพื้นที่ขายได้ ทำให้กลุ่มลูกค้าใหม่ได้เห็นสินค้า เพราะเดิมสินค้าของเล่นจะตั้งอยู่เฉพาะในโซนของเล่น ก็จะมีแต่แม่และเด็กที่เดินเข้ามาโซนนี้ ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุดกับการตั้งจำหน่ายที่ลานอีเว้นท์กลางศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ นอกจากจะได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นแม่และเด็กแล้ว ยังได้กลุ่มวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศเพิ่มเติมด้วย

นายไพโรจน์ บุญจันทร์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งตัวศูนย์การค้า รวมไปถึงกลุ่มผู้เช่าและกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการ จากการสำรวจของศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินร์ พบว่า กลุ่มผู้เช่า (Tenant) หลายแบรนด์ มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการตลาด อาทิ ไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้และปีหน้า มองหาพื้นที่เช่าที่มีสัญญาระยะสั้นไม่ผูกมัด โดยเฉพาะกลุ่มSME ที่ต้องการสร้างแบรนด์ รวมถึงการมองหาสถานที่แบบเปิดสำหรับการทำกิจกรรม Below the line เป็นต้น

ทั้งนี้ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ได้เล็งเห็นแนวทางการตลาดของกลุ่มผู้เช่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้นำจุดเด่นในด้านการเป็นศูนย์การค้าแบบเปิดคือ มีพื้นที่ลานกิจกรรมขนาดใหญ่และหลากหลายพื้นที่ มาให้บริการในลักษณะ “ป๊อบอัพ” รองรับความต้องการของกลุ่มผู้เช่าทุกรูปแบบทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์บริการ ศูนย์เรียนรู้ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถเข้ามาจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ

โดยมีจุดเด่นคือ รูปแบบสัญญาเช่าพื้นที่ชั่วคราว ที่กลุ่มผู้เช่าสามารถหารือระยะเวลาเช่าที่ต้องการได้ ล่าสุดนำร่องร่วมกับ บริษัท ซิมบ้าทอยส์ (ไทยแลนด์) และบริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด จัดกิจกรรมในรูปแบบ “ร้านค้าเคลื่อนที่” นำของเล่นแบรนด์ดัง กว่า 1,000 รายการ มาจัดจำหน่ายในราคาพิเศษ ตลอดทั้งเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี จากกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการและกลุ่มพนักงานออฟฟิศภายในศูนย์การค้า