“ดีอีเอส-ดีป้า” จับมือ “สรรพากร” ดันมาตรการเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ลดภาระเอสเอ็มอี



  • สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ ยกระดับธุรกิจ ปรับตัวยุคชีวิตวิถีใหม่
  • เตรียมออกหลักเกณฑ์รับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล) เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จำนวนรวม 200% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) หรือค่าใช้จ่ายการใช้บริการโปรแกรมบริการ (Software as a Service: SaaS) ที่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตามความต้องการใช้งาน จากผู้ประกอบการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และขยายขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมบริการ โดยมอบหมายให้ ดีป้า บูรณาการการทำงานกับ กรมสรรพากร กระทรวงการคลังเร่งประกาศหลักเกณฑ์การรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ต้องการเข้าสู่มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

“มาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมบริการที่ได้มาตรฐานมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รองรับชีวิตวิถีใหม่ ก่อนก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการเข้าสู่มาตรการฯ และขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น”

สำหรับเงื่อนไขยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการฯ จำนวนรวม 200% มีดังนี้

1.รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท 100% แรก หักค่าซื้อ ค่าจ้าง + ค่าเสื่อม รวมเป็น 200%

2.ค่าใช้จ่ายการใช้บริการโปรแกรมบริการ (Software as a Service: SaaS) เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท หักค่าบริการ รวมเป็น 200%

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษี จะต้องมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท และจะต้องเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบริการโปรแกรมบริการจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า เท่านั้น

โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) และมีมาตรฐาน ISO29110 และ CMMI จำนวนกว่า 100 ราย ซึ่งขณะนี้ยังเปิดรับผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ผ่านระบบฐานข้อมูลที่ www.depa.or.th/tax200

สำหรับประเภทและลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโปรแกรมบริการที่สามารถใช้สิทธิได้ ประกอบด้วย

1.ERP (โปรแกรมบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร)
2.CRM (โปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า)
3.POS (โปรแกรมบริการ ณ จุดขาย)
4.MRP (โปรแกรมบริหารจัดการและวางแผนการผลิต)
5.Account (โปรแกรมบัญชี)
6.Personnel (โปรแกรมบริหารงานบุคคล)
7.Logistics (โปรแกรมบริหารการขนส่ง)
8.Inventory (โปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า)
9.Service Management System (โปรแกรมบริหารงานบริการ)
10.AI Software (โปรแกรมที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์)
11.Data Analytics (โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล)
12.IoT System (ชุดโปรแกรมอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง)
13.Smart Farm (โปรแกรมบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ)
14.e-Payment System (ชุดโปรแกรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์)

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้ทาง www.depa.or.th/tax200