“ดีอีเอส -กสทช.-ไอเอสพี”สั่งลุยเว็บผิดกฎหมาย เปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน

  • 7 เดือน ปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม 7,164 ยูอาร์แอล
  • เปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์​“​ให้ประชาชนส่งเรื่องเว็บไม่เหมาะสมมาให้
  • รัฐไม่ได้นิ่งนอน เร่งดำเนินการเต็มที่

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีเอส และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้ร่วมมือกัน ดำเนินการมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดทางออนไลน์ โดยในรอบ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.)​ ปี 2563 กระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวจ้อง ได้รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล  จากที่ได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล ซึ่งดีอีเอส ได้ส่งข้อมูลให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปดำนเนินการกับผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  ซึ่งการกระทำผิดส่วนใหญ่ อยู่บนเฟซบุ๊ก แต่ได้รับความร่วมมือจากเฟซบุ๊กน้อยมาก

ทั้งนี้ปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย และการใช้โลกโซเซียลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้กำลังคนของกระทรวงดีอีเอส และเจ้าหน้าที่รัฐ อาจไม่เพียงพอต่อการนำคนผิดมาดำเนินการคดี จึงขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแลเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ที่มีการกระทำผิดกฎหมายทางออนไลน์ หรือผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำทางคอมพิวเตอร์ ด้วยการเปิดเพจเฟซบุ๊ก “อาสา จับตา ออนไลน์” เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง และพิจารณาตามข้อกฎหมายและตอบกลับ และอีกช่องทางหนึ่งคือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-141 6747 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีกับกลุ่มที่โพสต์หรือเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมนั้น เริ่มจากรับแจ้งเว็บไซต์จากประชาชน พร้อมทั้งตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานพยานที่ครบถ้วน และมีขั้นตอนของการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหรือลบข้อมูลต่อไป เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ก็จะส่งคำสั่งศาลไปยังไอเอสพี ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์) เพื่อดำเนินการปิดหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายต่อไป ซึ่งบทลงโทษสำหรับกระทำความผิด คือ โทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่น และความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งเรื่องของข่าวปลอมโดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อธำรงไว้ซึ่งประโยชน์ของประชาชนทุกคน โดยเราจะมุ่งเน้นไปยังข่าวปลอม เฉพาะที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนในวงกว้าง แต่จะไม่เข้าไปจัดการกับข่าวที่เพียงกระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง”