

- ผู้ประกอบการวอนรัฐกระตุ้นการบริโภค-ลงทุน
- ความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐ
- ฉุดรั้งความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า อานิสงส์จากการเปิดประเทศ ส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 2 แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ขาดการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลสามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐเท่าที่ควร ประกอบกับการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าบริโภคและลงทุน จึงทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศทรงตัว
นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และสงครามระหว่างประเทศส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนขึ้น รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไต้หวันที่ถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งชิปและชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดปัญหา Supply Shortage ที่ยังคงเรื้อรัง และมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการดิจิทัลในทุกภาคส่วน
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า ทุกอุตสาหกรรมย่อยมีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 48.6 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 46.4 กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 44.5 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 45.8 และ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 41.3
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับมาตรการทางการเงินและการคลังที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้มีพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขัน รองรับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการเปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดภาครัฐ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันกับ Vendor เจ้าเดิม และแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว