

.นักลงทุนคลายกังวลหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป
.ตลาดติดตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยตัวเลขการฟื้นตัวยังส่งสัญญาณสับสน
.หุ้นกลุ่มพลังงาน ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิยบเบรนท์ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 2 ปี
เมื่อเวลา 22.10 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,922.58 จุด ลดลง 23.00 จุด หรือ -0.07% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่14,256.96 จุด เพิ่มขึ้น 3.69 จุด หรือ +0.03% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,246.56 จุด เพิ่มขึ้น 0.12 จุด หรือ +0.00%
นักลงทุนคลายกังวลหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจะไม่เกิดขึ้นเร็วเกินไป ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขานรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวขึ้นทะลุ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บรรยากาศซื้อขายในตลาดยังคงไม่คึกคัก ทำให้ดัชนีเคลื่อนไหวแคบๆ
ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวเป็นวงกว้าง และเฟดจะไม่ใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป
ขณะที่ล่าสุด นางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าววานนี้ว่า เฟดอาจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า โดยกรรมการเฟดจะหารือกันในเดือนหน้าเกี่ยวกับกำหนดเวลาและวงเงิน QE ที่จะมีการปรับลดลง
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาวันนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 63.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 68.7 ในเดือนพ.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 62.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 62.1 ในเดือนพ.ค. แต่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 64.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 70.4 ในเดือนพ.ค.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 5.9% สู่ระดับ 769,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 870,000 ยูนิต นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับลดยอดขายบ้านใหม่ในเดือนเม.ย.สู่ระดับ 817,000 ยูนิต จากเดิมรายงานที่ระดับ 863,000 ยูนิต
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 9.2% ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่พุ่งขึ้น 18.1% สู่ระดับ 374,400 ดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ส่วนสต็อกบ้านใหม่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 330,000 ยูนิต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณายอดขายบ้าน และสต็อกบ้านในตลาด พบว่า ผู้ขายบ้านต้องใช้เวลา 5.1 เดือนในการขายบ้านจนหมดสต็อกในตลาด เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.6 เดือนในเดือนเม.ย.