ดาวโจนส์แกว่งตัวแคบ เคลื่อนไหวบวก 19 จุด จับตาทิศทางเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-น้ำมัน



.นักลงทุนชะลอการซื้อขาย หลังกังวลว่าราคาน้ำมันพุ่งก่อเงินเฟ้อ-เพิ่มต้นทุนการผลิต
.ตลาดจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐสัปดาห์นี้
. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือนส.ค.ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

เมื่อเวลา 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34,515.96 จุด เพิ่มขึ้น 19.90 จุด หรือ +0.06% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 14,479.49 จุด ลดลง 6.71 จุด หรือ -0.05% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,361.70 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.51 จุดหรือ +0.01%

ตลาดหุ้สหรัฐผันผวนแกว่งตัวแคบต่อเนื่องทั้งในแดนบวกและลบ นักลงทุนชะลอการซื้อขาย หลังกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้ต้นทุนพลังงานดีดตัวและก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเอกชนและบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค

โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ โดยเจพีมอร์แกนมีกำหนดเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ในวันพุธนี้ ส่วนโกลด์แมน แซคส์, แบงก์ ออฟ อเมริกา, มอร์แกน สแตนลีย์, เวลส์ ฟาร์โก และซิตี้ กรุ๊ป จะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจากเดิมที่เมื่อเดือนก.ค.คาดว่าจะขยายตัว 6.0% เหลือเป็นขยายตัว 5.9% ขณะที่ยังคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้าไว้ว่าจะขยายตัว 4.9% ทั้งนี้ IMF ระบุในรายงาน World Economic Outlook ว่า ปัญหาด้านซัพพลายเชนนั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานยังออกมาต่อกว่าคาด โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับตัวลดลงแตะ 10.4 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากที่พุ่งทำสถิติเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.ค.และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.9 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลดลงแตะ 6.6%

ตัวเลขการจ้างงานลดลงสู่ระดับ 6.3 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ส่วนอัตราการจ้างงานอยู่ที่ระดับ 4.3% โดยตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด