

- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเดือน พ.ค. ลดลง คนมองเงินเฟ้อ–วิกฤตธนาคารยังไม่จบ
- นักลงทุนจับตาการขอขยายเพดานหนี้รัฐบาลสหรัฐ หลังต้องเจรจารอบ 2 สัปดาห์หน้า
- ตลาดจับตาทิศทางเศรษฐกิจ และผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของบริษัทจดทะเบียน
เมื่อเวลาประมาณ22.00น.ตามเวลาประเทศไทยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ33,281.80จุดลดลง 27.71จุดหรือ-0.08%ดัชนีแนสแด็กคอมโพซิสเคลื่อนไหวที่12,287.36จุดลดลง41.15จุดหรือ-0.33%ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี500เคลื่อนไหวที่ระดับ4,123.93จุดลดลง6.69จุดหรือ-0.16%
ตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งตัวแคบ โดยยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ นักลงทุนจับตาภาพรวมเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทที่ทยอยออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนพ.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและวิกฤตในภาคธนาคาร โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงลงสู่ระดับ 57.7 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0 จากระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง โดยแตะระดับ 4.5% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551
หุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นในวันนี้ หลังดิ่งลงมากจากความตื่นตระหนกวานนี้ โดยนักลงทุนความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของทางธนาคาร
ราคาหุ้นเทสลา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นในวันนี้ หลังนายอีลอน มัสก์ เปิดเผยว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัททวิตเตอร์ภายในเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อไปรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ซึ่งจะรับผิดชอบด้านผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ และการปฏิบัติการด้านระบบ
ราคาหุ้นเทสลาพุ่งขึ้นขานรับข่าวดังกล่าว หลังจากที่นักลงทุนมีความกังวลก่อนหน้านี้ว่า นายมัสก์ให้ความสนใจทวิตเตอร์จนกระทบต่อการบริหารเทสลา ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
นักลงทุนจับตาเพดานหนี้สหรัฐ หลังการหารือรอบ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งเดิมกำหนดมีขึ้นในวันนี้ ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า และหากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์