

- นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาดาวโจนส์ทำลายสถิติสูงสุด
- ตลาดไม่มั่นใจเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีหลังไอเอ็มเอฟลดประมาณการโต
- กังข้อกตกลงการค้าสหรัฐ-จีน เฟสแรกไม่มีผลกระตุ้นการค้าโลก
เมื่อเวลาประมาณ 22.10 น.ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 29,301.68 จุด ลดลง 46.42 จุด หรือ -0.16% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 9,380.43 จุด ลดลง 8.51 จุด หรือ -0.09% ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหว 3,321.98 จุด ลดลง 7.64 จุด หรือ -0.23%
เปิดตลาดหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์ปรับขึ้นทำลายสถิติใหม่ เปิดตลาดนักลงทุนเริ่มเทขายทำกำไรอีกครั้ง หลังมีความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสู่ระดับ 3.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนต.ค.ที่ระดับ 3.4% ในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์วันนี้
นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า สู่ระดับ 3.4% จากเดิมที่ระดับ 3.6% ขณะเดียวกัน IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.9% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551-52 จากเดิมที่ระดับ 3.0%
ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ในงานเดียวกัน โดยระบุว่าสหรัฐเสียเปรียบประเทศอื่นซึ่งมีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ อย่างไรก็ดี เรายังคงมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในหลายด้าน ซึ่งมาจากการทำข้อตกลงทางการค้า และการผ่อนคลายกฎระเบียบ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยระบุว่า เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป และปรับลดช้าเกินไป โดยที่ผ่านมา ได้ตำหนินายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด มาอย่างต่อเนื่องว่า นโยบายการเงินของเฟดกำลังทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และอัตราดอกเบี้ยกำลังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ซึ่งเฟดควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยปรับลดสู่ระดับ 0% หรือสู่ระดับติดลบ
อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินยังมีความไม่มั่นใจ เนื่องจากเชื่อกันว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่องบดุลของธนาคาร ซึ่งจะลุกลามไปกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ
ขณะที่ฟดระบุว่า ระบบการเงินของสหรัฐมีความแตกต่างอย่างมากจากกลุ่มประเทศที่มีการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในขณะนี้ และอัตราดอกเบี้ยติดลบจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตลาด และเสถียรภาพทางการเงินในสหรัฐมากกว่าในต่างประเทศ ขโดยเฟดยังคงส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ตลาดยังได้รับปัจจัยลบ จากคำกล่าวของนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ระบุว่า ข้อตกลงการค้าเฟสสองที่สหรัฐจะเจรจากับจีน อาจจะไม่มีการปรับลดอัตราภาษีสินค้าทั้งหมดที่มีการบังคับใช้ในขณะนี้ ทำให้ผลของข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างจีนและสหรัฐไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่ายและเศรษฐกิจโลกเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจจะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หากผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมจัดการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันพรุ่งนี้ที่กรุงเจนีวา เพื่อหารือเกี่ยวกับการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ผู้เสียชีวิตและติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น