ดาวโจนส์เคลื่อไหวผันผวน แกว่งตัวแดนบวกลบ นักลงทุนติดตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ



.การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้างในสหรัฐคืบหน้า “ไบเดน” ตั้งเป้าวันชาติ 4 ก.ค.พ้นวิกฤต
.นักลงทุนลดความเสี่ยง ติดตามการเคลื่อนไหวอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
.ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินเฟด ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ หาสัญญาณเงินเฟ้อ

เมื่อเวลา 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 32,768.10 จุด ติดลบเล็กน้อย
10.54 จุด หรือ -0.03% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,367.87 จุด เพิ่มขึ้น 48.01 จุด หรือ +0.36%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 3,941.47 จุด ลดลงเล็กน้อย 1.87 จุด หรือ -0.05%

ดัชนีดาวโจนส์แกว่งตัวผันผวน หลังดีดตัวขึ้นแรงในช่วงเปิดตลาด ขานรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้างในสหรัฐ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ความกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ยังคงสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พ.ค. หลังจากที่ในขณะนี้ชาวอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดสแล้ว ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ประธานาธิบดีไบเดนในสัญญาไว้ และวันนี้เขากำหนดเป้าหมายใหม่ ว่าต้องการให้ชาวอเมริกันสามารถสังสรรค์กับเพื่อนและสมาชิกครอบครัวเป็นกลุ่มเล็กๆได้เพื่อฉลองวันชาติสหรัฐในวันที่ 4 ก.ค. ส่งผลหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสายการบิน ต่างดีดตัวขึ้น รวมทั้งหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี

ตลาดติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยวันนี้เริ่มเห็นการชะลอตัวลง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นสูงมากในช่วงก่อนหน้า จากความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวมากขึ้นจากการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทะลุไปที่ 30,081,831 ราย และมีผู้เสียชีวิต 547,235 ราย โดยขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ