

.ทำเนียบขาวยืนยัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐวัยคิดเชื้อโควิด-19
.นักลงทุนเทขายหุ้นออกมารอดูสถานการณ์การเมือง และตัวเลขจีีดีพี ไตรมาส 2 ที่จะประกาศสัปดาห์หน้า
.ตัวเลขคนว่างงานที่สูงเกินคาด ยังเป็นอีกแรงกดดันดัชนี
เมื่อเวลาประมาณ 22.15 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 31,666.11 จุด
เพิ่มขึ้น 208.73 จุด หรือ -0.65% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 11,910.99 จุด เพิ่มขึ้น 13.34 จุด หรือ +0.11%
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,953.19 จุด ลดลง 6.71 จุด หรือ -0.17%
ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงวันนี้ หลังทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐวัย 79 ปี มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก อย่างไรก็ตาม นางแครีน ฌ็อง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า “ท่านประธานาธิบดีไบเดนมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย โดยท่านได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส รวมทั้งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ 2 เข็ม โดยขณะนี้ได้รับยาแพกซ์โลวิดเพื่อรักษาอาการป่วยจากโรคโควิด-19 และจะเข้าสู่กระบวนการกักตัวที่ทำเนียบขาว”
นอกจากนี้ ตัวเลขคนว่างงานที่สูงเกินคาดยังเป็นอีกแรงกดดันตลาดหุ้น โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 251,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 240,000 ราย
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่า 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.384 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.
ตลาดหุ้น ยังคงกังวลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา จะประกาศวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะแสดงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 2/65 จากเดิมที่คาดการณ์ในวันที่ 15 ก.ค.ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.5%
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค.
ตลาดจับตาการประชุมของเฟดในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมเดือนนี้ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าผู้บริโภคได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%
ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว รุนแรงกว่าที่ ECB ส่งสัญญาณในเดือนมิ.ย.ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนก.ค.
นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยขณะนี้บริษัทราว 13% ในดัชนี S&P 500 ได้เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 แล้ว ซึ่งราว 66% ในจำนวนดังกล่าวได้รายงานกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้